เคยสงสัยกันไหมครับว่าร่างกายของเราเอาเรี่ยวแรงมาจากไหน
หลายคนอาจบอกว่าจากการที่เรากินอาหารเข้าไป แต่ในความเป็นจริงแล้วอาหารที่เรากินเข้าไปนั่นต้องผ่านกระบวนการต่างๆ
ในร่างกายเรามากมาย เพื่อให้ได้อนุภาคที่เล็กที่สุดและนำไปใช้เป็นสารตั้งต้นในการสร้างพลังงานมาใช้ในกระบวนการต่างๆ
ในเซลล์ในรูป ATP โดยโครงสร้างสำคัญในเซลล์ที่ทำหน้าที่หลักในการสร้างพลังงานก็คือ ไมโทคอนเดรีย (mitochondria) ซึ่งเป็นโครงสร้างในเซลล์ที่ประกอบด้วยเยื่อหุ้ม 2 ชั้น คือ เยื่อหุ้มชั้นนอก และเยื่อหุ้มชั้นใน ที่พับทบไปมาและยื่นเข้าไปด้านในเพื่อเพิ่มพื้นที่ผิว เรียกว่า "คริสตี (cristae)" ส่วนบริเวณช่องว่างระหว่างเยื่อหุ้มทั้ง 2 ชั้น เรียกว่า "intermembrane space" โดยเยื่อหุ้มชั้นในของไมโทคอนเดรียจะมีโปรตีนที่เป็นองค์ประกอบของห่วงโซ่หายใจ (electron transport chain) เรียงตัวอยู่ รวมถึงยังมีมีเอ็นไซม์ ATP
synthase และโปรตีนตัวอื่นๆ ที่ทำหน้าที่ในการขนส่งฝังตัวอยู่ โดยภายในของเยื่อหุ้มชั้นในเรียกว่า "เมทริกซ์ (matrix)" จะบรรจุเอนไซม์ต่างๆ อยู่
สำหรับขั้นตอนการสลายอาหารระดับเซลล์เพื่อให้ได้เป็นพลังงาน จะเริ่มจากน้ำตาลกลูโคส (น้ำตาลโมเลกุลเล็ก) ซึ่งประกอบด้วยคาร์บอน
6 อะตอม โดยจะประกอบด้วย 3 ขั้นตอนใหญ่ๆ คือ
1. ไกลโคไลซิส (glycolysis) จะเกิดในไซโทพลาสซึมของเซลล์
2. วัฏจักรเครบส์ (Krebs cycle) เกิดในเมทริกซ์ (matrix) ของไมโทคอนเดรีย
3. การส่งอิเล็กตรอนไปตามตัวรับอิเล็กตรอนต่างๆ
ที่เรียกว่า "ลูกโซ่หายใจ (electron transport chain)" ซึ่งเรียงตัวอยู่ตามเยื่อหุ้มชั้นในของไมโทคอนเดรีย
โดยท้ายที่สุดแล้วเซลล์จะเก็บพลังงานที่ได้ในระหว่างการสลายกลูโคสนี้ไว้ในโมเลกุลของ
ATP ดังภาพ
ขอบคุณภาพจาก: http://www.psla.umd.edu/courses/plsc400/Cells/Mitochondria.jpg
vStudy Team. (เรียบเรียงโดย: สุวิชา ธงพานิช)
vStudy Team. (เรียบเรียงโดย: สุวิชา ธงพานิช)
Website :: vStudyapp.com
Facebook :: http://www.facebook.com/vstudyapp
Twitter :: @vStudyapp