Monday, October 28, 2013

พลัง(งาน)ในตัวเรา ได้มาจากไหน?


     เคยสงสัยกันไหมครับว่าร่างกายของเราเอาเรี่ยวแรงมาจากไหน หลายคนอาจบอกว่าจากการที่เรากินอาหารเข้าไป แต่ในความเป็นจริงแล้วอาหารที่เรากินเข้าไปนั่นต้องผ่านกระบวนการต่างๆ ในร่างกายเรามากมาย เพื่อให้ได้อนุภาคที่เล็กที่สุดและนำไปใช้เป็นสารตั้งต้นในการสร้างพลังงานมาใช้ในกระบวนการต่างๆ ในเซลล์ในรูป ATP โดยโครงสร้างสำคัญในเซลล์ที่ทำหน้าที่หลักในการสร้างพลังงานก็คือ ไมโทคอนเดรีย (mitochondria) ซึ่งเป็นโครงสร้างในเซลล์ที่ประกอบด้วยเยื่อหุ้ม 2 ชั้น คือ เยื่อหุ้มชั้นนอก และเยื่อหุ้มชั้นใน ที่พับทบไปมาและยื่นเข้าไปด้านในเพื่อเพิ่มพื้นที่ผิว เรียกว่า "คริสตี (cristae)" ส่วนบริเวณช่องว่างระหว่างเยื่อหุ้มทั้ง 2 ชั้น เรียกว่า "intermembrane space" โดยเยื่อหุ้มชั้นในของไมโทคอนเดรียจะมีโปรตีนที่เป็นองค์ประกอบของห่วงโซ่หายใจ (electron transport chain) เรียงตัวอยู่ รวมถึงยังมีมีเอ็นไซม์ ATP synthase และโปรตีนตัวอื่นๆ ที่ทำหน้าที่ในการขนส่งฝังตัวอยู่ โดยภายในของเยื่อหุ้มชั้นในเรียกว่า "เมทริกซ์ (matrix)" จะบรรจุเอนไซม์ต่างๆ อยู่

     สำหรับขั้นตอนการสลายอาหารระดับเซลล์เพื่อให้ได้เป็นพลังงาน จะเริ่มจากน้ำตาลกลูโคส (น้ำตาลโมเลกุลเล็ก) ซึ่งประกอบด้วยคาร์บอน 6 อะตอม โดยจะประกอบด้วย 3 ขั้นตอนใหญ่ๆ คือ

     1. ไกลโคไลซิส (glycolysis) จะเกิดในไซโทพลาสซึมของเซลล์

     2. วัฏจักรเครบส์ (Krebs cycle) เกิดในเมทริกซ์ (matrix) ของไมโทคอนเดรีย

     3. การส่งอิเล็กตรอนไปตามตัวรับอิเล็กตรอนต่างๆ ที่เรียกว่า "ลูกโซ่หายใจ (electron transport chain)" ซึ่งเรียงตัวอยู่ตามเยื่อหุ้มชั้นในของไมโทคอนเดรีย โดยท้ายที่สุดแล้วเซลล์จะเก็บพลังงานที่ได้ในระหว่างการสลายกลูโคสนี้ไว้ในโมเลกุลของ ATP ดังภาพ



     ขอบคุณภาพจาก: http://www.psla.umd.edu/courses/plsc400/Cells/Mitochondria.jpg

vStudy Team. (เรียบเรียงโดย: สุวิชา ธงพานิช)
Website :: vStudyapp.com
Twitter :: @vStudyapp

Sunday, October 20, 2013

กระเพาะวัว กระเพาะควาย


     “วัว ควาย” เป็นสัตว์ที่เรารู้จักกันดี เพราะอยู่คู่กับชาวไทยมานานแสนนาน และมีประโยชน์อย่างยิ่งในการเกษตรและฟาร์มนม ซึ่งสัตว์ทั้งสองนี้ต่างก็จัดเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้อง (ruminant) หรือสัตว์ที่กินพืชเป็นอาหาร โดยจะมีการพัฒนาระบบทางเดินอาหารให้ยาวมาก เพื่อให้มีระยะเวลาในการย่อยอาหารนานขึ้น และดูดซึมได้มากขึ้น รวมถึงการมีส่วนของกระเพาะอาหารที่แบ่งออกเป็น 4 ส่วน ดังนี้

     1. รูเมน (rumen) เป็นกระเพาะอาหารส่วนแรก จะมีพวกจุลินทรีย์ที่สามารถสร้างน้ำย่อยเซลลูโลสจากพืชที่กินเข้าไปจำนวนมาก และอาหารในส่วนนี้ยังสามารถสำรอกออกมาเพื่อเคี้ยวใหม่ (เคี้ยวเอื้อง) ได้เป็นครั้งคราว ทำให้เส้นใยมีความละเอียดยิ่งขึ้นและย่อยง่ายขึ้น นอกจากนี้ พวกจุลินทรีย์เหล่านี้ยังสามารถสังเคราะห์กรดไขมันจากคาร์โบไฮเดรตและสังเคราะห์กระอะมิโนจากยูเรียได้ ก่อนจะส่งเข้าสู่กระเพาะอาหารส่วนถัดไป

     2. เรติคิวลัม (reticulum) เป็นส่วนที่ทำหน้าที่ย่อยนม ตอนที่ยังเล็กอยู่ (ยังกินนมเป็นอาหาร)

     3. โอมาซัม (omasum) ทำหน้าที่ผสมอาหาร บดอาหาร และดูดซึมน้ำจากกระเพาะอาหารส่วนรูเมน

     4. อะโบมาซัม (abomasum) เป็นกระเพาะอาหารส่วนจริงที่มีการย่อยทั้งอาหารและจุลินทรีย์ ก่อนจะส่งเข้าสู่ลำไส้เล็กต่อไป

vStudy Team. (เรียบเรียงโดย: สุวิชา ธงพานิช)
Website :: vStudyapp.com
Twitter :: @vStudyapp

Monday, October 14, 2013

เคาะหัวเข่า ไฟส่องตา


     เคยสงสัยกันหรือไม่ครับ ว่าทำไมเวลาที่เราไปพบคุณหมอบางครั้งหมอก็จะเอาค้อนอันเล็กๆ มาเคาะบริเวณหัวเข่าของเรา หรือไม่ก็ส่องไฟเข้าตาเรา ฯลฯ วันนี้ผมจะมาช่วยให้ความกระจ่างในเรื่องนี้กันครับ
การที่หมอกระทำการต่างๆ แบบนั้นกับเราก็เพื่อที่จะตรวจสอบการทำงานของระบบประสาท ในส่วนที่เป็นปฏิกิริยาตอบสนองฉับพลันหรือรีเฟล็กซ์ (reflex) นั่นเองครับ ซึ่งรีเฟล็กซ์เป็นปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายนอกเหนืออำนาจจิตใจ (involuntary) ที่เกิดขึ้นแทบทันที เพื่อตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้น เพื่อหลีกเลี้ยงอันตรายต่างๆ ซึ่งรีเฟล็กซ์ของมนุษย์จะเกิดผ่านระบบการนำกระแสประสาทที่เรียกว่า "วงจรรีเฟล็กซ์ (reflex arc)" ซึ่งจะอาศัยการทำงานของเซลล์ประสาทต่างๆ เช่น การตอบสนองต่อแสงของรูม่านตา หรือรีเฟล็กซ์บริเวณหัวเข่า (knee jerk reflex) ดังภาพ เป็นต้น


     1. หน่วยรับความรู้สึก (sensory unit) ที่ประกอบด้วย อวัยวะรับความรู้สึก (receptor) เช่น กล้ามเนื้อ อวัยวะรับสัมผัสอื่นๆ หรือ receptor cell บริเวณต่างๆ เป็นต้น และแขนงของเซลล์ประสาทรับความรู้สึก (sensory nerve process) ซึ่งจะมีตัวเซลล์ (cell body) อยู่ที่ปมประสาทรากบน (dorsal root ganglion) และยื่นแขนงประสาท (cell process) ออกไปรับสัญญาณจากหน่วยรับความรู้สึก

     2. หน่วยประสานงาน ประกอบไปด้วย เซลล์ประสาทประสานงาน (interneuron) ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการนำกระแสประสาทจากเซลล์ประสาทตัวหนึ่งไปยังอีกตัวหนึ่ง พบอยู่ในระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งในการเกิดการตอบสนองต่างๆ กระแสประสาทอาจจะผ่านหรือไม่ผ่าน interneuron ก็ได้
     
     3. หน่วยปฏิบัติงาน (motorunit) ประกอบด้วย เซลล์ประสาทสั่งการ (motor neuron) ที่มีตัวเซลล์อยู่ในระบบประสาทส่วนกลางและยื่นแขนงประสาทออกไปยังอวัยวะตอบสนอง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ในการเคลื่อนไหวของรยางค์ เพื่อสั่งการให้เกิดการทำงานหลบหลีกอันตรายจากสิ่งกระตุ้น

vStudy Team. (เรียบเรียงโดย: สุวิชา ธงพานิช)
Website :: vStudyapp.com
Twitter :: @vStudyapp

Wednesday, October 9, 2013

เรื่องของ "ล่อ"


     ล่อ หรือ ฬ่อ (mule) เป็นสัตว์พันทางที่เกิดจากการผสมพันธุ์กันระหว่าง ม้าและ ลาซึ่งเป็นสัตว์ที่มีความแตกต่างกันทางสปีซีส์ (species) ทำให้ได้ลูกออกมาที่ไม่สามารถสืบพันธุ์ต่อได้ (เป็นหมัน) เนื่องจากจำนวนโครโมโซมของม้า (มี 64 แท่ง) และลา (มี 62 แท่ง) ไม่เท่ากัน จึงทำให้เกิดความผิดปกติต่างๆ ดังนี้

     1. จำนวนโครโมโซมของล่อจะมี 32 + 31 = 63 แท่ง ทำให้ในการสร้างเซลล์สืบพันธุ์จะไม่สามารถแบ่งโครโมโซมออกเป็นสองชุดได้สมบูรณ์ จึงเกิดความล้มเหลวในการสร้างตัวอ่อน

     2. การจับคู่กันอย่างไม่สมบูรณ์ของโครโมโซมสองชุด ทำให้การเจริญของล่อไม่สมบูรณ์โดยเฉพาะอวัยวะสืบพันธุ์ ซึ่งในเพศเมียจะมีขนาดของช่องคลอดที่เล็กมาก และรังไข่ก็จะไม่มีไข่ (ovum) แต่จะเป็นเพียงถุงเปล่าขนาดเล็กเท่านั้น ในขณะที่เพศผู้เซลล์เซอโทลิ (sertoli cell) และเซลเริ่มต้นของเซลสืบพันธุ์เพศผู้ (spermatogonia) จะไม่มีการเจริญเท่าที่ควร


vStudy Team. (เรียบเรียงโดย: สุวิชา ธงพานิช)
Website :: vStudyapp.com
Twitter :: @vStudyapp

Tuesday, October 8, 2013

คนมี "ภูมิฯ"


     หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า “มีภูมิ” ซึ่งใช้กันอย่างกว้างขวางหลายความหมายมากมาย แต่ในความเป็นจริงแล้วคนเราทุกคนต่างก็มีภูมิทั้งสิ้น โดย “ภูมิ” ที่ว่านี้ก็คือ “ภูมิคุ้มกัน (immunity)” โดยภูมิคุ้มกันของมนุษย์นั้นจะแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ก็คือ

     1. ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติ แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ
    
     1.1  ภูมิคุ้มกันโดยกำเนิด เป็นภูมิคุ้มกันที่ถูกสร้างมาพร้อมกับการเจริญ เช่น ผิวหนัง เยื่อบุผนังต่างๆ สารคัดหลั่งต่างๆ เซลล์ต่างๆ ที่ทำหน้าที่ในการทำลายเชื้อโรค โปรตีนในระบบภูมิคุ้มกัน รวมถึงกลไกการตอบสนองของร่างกายต่อสิ่งแปลกปลอมที่เรียกว่า การอักเสบ เป็นต้น

     1.2 ภูมิคุ้มกันจำเพาะ เป็นภูมิคุ้มกันที่จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อร่างกายรู้จักกับแอนติเจนหรือเชื้อโรคชนิดนั้นๆ ก่อน จึงจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่อเอนติเจนหรือเชื้อโรคชนิดนั้นๆ

     2. ภูมิคุ้มกันที่มนุษย์สร้างขึ้น เป็นภูมิคุ้มกันที่มีลักษณะคล้ายกับภูมิคุ้มกันจำเพาะ เนื่องจากจะต้องมีตัวกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกัน มี 2 แบบ คือ

     2.1  ภูมิคุ้มกันก่อเอง เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นโดยการให้เอนติเจนหรือเชื้อโรคที่อ่อนแรงแล้วเข้าสู่ร่างกายโดยวิธีต่างๆ เช่น ฉีด กิน หรือผิวหนัง เพื่อให้ร่างกายเกิดการตอบสนองและสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา โดยแอนติเจนหรือเชื้ออ่อนแรงที่ให้เข้าไปในร่างกายจะเรียกว่า “วัคซีน (vaccine)”

     2.2 ภูมิคุ้มกันรับมา เป็นการให้แอนติบอดี้กับร่างกายโดยตรง เพื่อให้เกิดภูมิต้านทานโดยไม่ต้องถูกกระตุ้น ซึ่งจะเกิดผลทันทีแต่จะไม่คงทน โดยแอนติบอดี้ที่ให้เข้าไปในร่างกายจะเรียกว่า “ซีรั่ม (serum)”

vStudy Team. (เรียบเรียงโดย: สุวิชา ธงพานิช)
Website :: vStudyapp.com

Facebook :: http://www.facebook.com/vstudyapp
Twitter :: @vStudyapp

Thursday, October 3, 2013

กะเหรี่ยง "คอ" ยาว

 
     เมื่อพูดถึงชาวเขาหลายๆ เผ่า หลายคนอาจจะนึกถึงกลุ่มของ “กะเหรี่ยง” ซึ่งมีสัญลักษณ์สำคัญคือ คอที่ยาวกว่าคนปกติภายในห่วงคล้องคอหลายชั้นตามความอาวุโส แต่ในความเป็นจริงแล้ว คอของพวกเขานั้นก็ยาวเท่ากับคนทั่วไปอย่างเราๆ นี่แหละครับ เพียงแต่การที่พวกเขาสวมห่วงไว้ที่คอตั้งแต่เด็กๆ และเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ทำให้โครงสร้างทางร่างกายบริเวณหัวไหล่ถูกกดต่ำลงไปกว่าปกติเรื่อยๆ จึงเหมือนคอยาวขึ้น ซึ่งจะขอกล่าวถึงกระดูกคอของพวกเราๆ รวมถึงชาวกะเหรี่ยงกันสักเล็กน้อยครับ
 
     กระดูกคอของคนรวมถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมส่วนใหญ่จะมีจำนวนทั้งสิ้น 7 ชิ้น (แม้แต่ยีราฟก็มี 7 ชิ้น นะ!!) โดยชิ้นแรกนั้นจะมีลักษณะแผ่ออกคล้ายปีก ต่ออยู่กับรูปขนาดใหญ่บริเวณฐานกะโหลกด้านหลัง (foramen magnum) ซึ่งกระดูกชิ้นแรกนี้จะมีชื่อเรียกว่า "แอทลาส (atlas)" ส่วนชิ้นที่สองเรียกว่า "แอกซิส (axis)" เป็นกระดูกที่มีส่วนของเดือย (dens) ยื่นขึ้นไปรับกับส่วนของกระดูกแอทลาส โดยจะทำให้เกิดการหมุนไปมาของหัวในแนวราบ และสำหรับกระดูอีก 5 ชิ้น ก็จะมีลักษณะคล้ายกับกระดูกสันหลังทั่วไป โดยกระดูกคอทุกชิ้นจะมีรูตรงกลางขนาดใหญ่เรียกว่า "vertebral foramen" ซึ่งเป็นทางผ่านของระบบประสาทส่วนกลางส่วนของไขสันหลังที่ต่อลงมาจากสมองในกะโหลก ดังนั้น จะเห็นว่าไม่ว่าเป็นคนในชนเผาใด ก็ล้วนแต่มีความยาวของคอที่ใกล้เคียงกันทั้งสิ้น โดยจะมีกระดูกคอเพียง 7 ชิ้น เท่ากันหมดดังภาพ

 
     ขอบคุณภาพจาก: http://www.backpain-guide.com/Chapter_Fig_folders/Ch05_Anatomy_Folder/Ch5_Images/05-3_C1_and_C2.jpg

vStudy Team. (เรียบเรียงโดย: สุวิชา ธงพานิช)
Website :: vStudyapp.com
Facebook :: http://www.facebook.com/vstudyapp
Twitter :: @vStudyapp

Wednesday, October 2, 2013

โอกาสถูก "หวย"


     ทุกๆ วันที่ 1 และ 16 ของเดือน ผมเชื่อได้เลยว่าคนกว่าค่อนประเทศเราต้องซื้อหวย (สลากกินแบ่งรัฐบาล) บ้างก็ซื้อเพราะได้เลขเด็ดมา บ้างก็ตามซื้อเลขทะเบียนรถ บ้างซื้อตามบ้านเลขที่ ตามวันเกิด หรือวันสำคัญต่างๆ ก็ว่ากันไปต่างๆ นานา ซึ่งหลายคนอาจคิดว่าเลขนี้ออกไปแล้วเมื่องวดก่อน คงไม่ออกอีก หรือบางคนก็บอกว่าเลขนี้ไม่เคยออกเลยงวดนี้น่าจะมีโอกาสออกเยอะ วันนี้ผมเลยจะมานำเสนอโอกาสในการตัดสินใจว่าเลขในใจท่าน มีโอกาสออกมากน้อยแค่ไหน ซึ่งคำตอบมีเพียงอย่างเดียวคือ เท่ากันทุกเลขครับ ตามข้อมูลในภาพเลยครับ


vStudy Team. (เรียบเรียงโดย: สุวิชา ธงพานิช)
Website :: vStudyapp.com
Facebook :: http://www.facebook.com/vstudyapp
Twitter :: @vStudyapp

Tuesday, October 1, 2013

“Guiding Light to the Stars” by Mark Gee (Australia)


     ภาพชนะเลิศการประกวด Astronomy Photographer of the Year 2013 ประเภท Earth and Space ชื่อภาพ "Guiding Light to the Stars" ถ่ายโดย Mark Gee ช่างภาพชาวออสเตรเลีย

     ภาพทางช้างเผือกที่ทอดโค้งเหนือแหลมทางเกาะเหนือในประเทศนิวซีแลนด์ ประกอบกับแสงไฟสว่างจ้าของประภาคาร Cape Palliser แสงสว่างกลางท้องฟ้าจากกลุ่มดาวฤกษ์บริเวณใจกลางของกาแล็กซี่ทางช้างเผือก (The Milky Way Galaxy) ซึ่งอยู่ห่างจากโลกประมาณ 26,000 ปีแสง จะเห็นได้ว่ามีกลุ่มเมฆเล็กๆ ทางด้านซ้าย คือ เมฆแมกเจลแลน (Magellanic Clouds) ซึ่งเป็นกาแล็กซี่แคระ ประกอบด้วยเมฆแมกเจลแลนเล็ก (Small Magellanic Cloud; กาแล็กซี่ที่อยู่ใกล้ทางช้างเผือกมากที่สุด) และเมฆแมกเจลแลนใหญ่ (Large Magellanic Cloud; กาแล็กซี่ที่อยู่ใกล้ทางช้างเผือกเป็นอันดับที่ 3)

     ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก: http://www.rmg.co.uk/whats-on/exhibitions/astronomy-photographer-of-the-year/2013-winners/earth-and-space/

vStudy Team.
Website :: vStudyapp.com
Facebook :: http://www.facebook.com/vstudyapp
Twitter :: @vStudyapp