Monday, October 14, 2013

เคาะหัวเข่า ไฟส่องตา


     เคยสงสัยกันหรือไม่ครับ ว่าทำไมเวลาที่เราไปพบคุณหมอบางครั้งหมอก็จะเอาค้อนอันเล็กๆ มาเคาะบริเวณหัวเข่าของเรา หรือไม่ก็ส่องไฟเข้าตาเรา ฯลฯ วันนี้ผมจะมาช่วยให้ความกระจ่างในเรื่องนี้กันครับ
การที่หมอกระทำการต่างๆ แบบนั้นกับเราก็เพื่อที่จะตรวจสอบการทำงานของระบบประสาท ในส่วนที่เป็นปฏิกิริยาตอบสนองฉับพลันหรือรีเฟล็กซ์ (reflex) นั่นเองครับ ซึ่งรีเฟล็กซ์เป็นปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายนอกเหนืออำนาจจิตใจ (involuntary) ที่เกิดขึ้นแทบทันที เพื่อตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้น เพื่อหลีกเลี้ยงอันตรายต่างๆ ซึ่งรีเฟล็กซ์ของมนุษย์จะเกิดผ่านระบบการนำกระแสประสาทที่เรียกว่า "วงจรรีเฟล็กซ์ (reflex arc)" ซึ่งจะอาศัยการทำงานของเซลล์ประสาทต่างๆ เช่น การตอบสนองต่อแสงของรูม่านตา หรือรีเฟล็กซ์บริเวณหัวเข่า (knee jerk reflex) ดังภาพ เป็นต้น


     1. หน่วยรับความรู้สึก (sensory unit) ที่ประกอบด้วย อวัยวะรับความรู้สึก (receptor) เช่น กล้ามเนื้อ อวัยวะรับสัมผัสอื่นๆ หรือ receptor cell บริเวณต่างๆ เป็นต้น และแขนงของเซลล์ประสาทรับความรู้สึก (sensory nerve process) ซึ่งจะมีตัวเซลล์ (cell body) อยู่ที่ปมประสาทรากบน (dorsal root ganglion) และยื่นแขนงประสาท (cell process) ออกไปรับสัญญาณจากหน่วยรับความรู้สึก

     2. หน่วยประสานงาน ประกอบไปด้วย เซลล์ประสาทประสานงาน (interneuron) ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการนำกระแสประสาทจากเซลล์ประสาทตัวหนึ่งไปยังอีกตัวหนึ่ง พบอยู่ในระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งในการเกิดการตอบสนองต่างๆ กระแสประสาทอาจจะผ่านหรือไม่ผ่าน interneuron ก็ได้
     
     3. หน่วยปฏิบัติงาน (motorunit) ประกอบด้วย เซลล์ประสาทสั่งการ (motor neuron) ที่มีตัวเซลล์อยู่ในระบบประสาทส่วนกลางและยื่นแขนงประสาทออกไปยังอวัยวะตอบสนอง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ในการเคลื่อนไหวของรยางค์ เพื่อสั่งการให้เกิดการทำงานหลบหลีกอันตรายจากสิ่งกระตุ้น

vStudy Team. (เรียบเรียงโดย: สุวิชา ธงพานิช)
Website :: vStudyapp.com
Twitter :: @vStudyapp

No comments:

Post a Comment