หน่วยที่เล็กที่สุดที่สามารถทำหน้าที่ได้ของสิ่งมีชีวิตนั่นก็คือ เซลล์ (cell) ซึ่งถือเป็นหน่วยปฏิบัติงานของสิ่งมีชีวิตที่เกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับทุกระบบของร่างกาย รวมถึงมนุษย์อย่างเราก็ต้องอาศัยการทำงานของเซลล์ในร่างกายที่มีมากมายนับล้านเซลล์ ซึ่งรวมถึงกลไกในการเจริญเติบโตและการซ่อมแซมส่วนที่สึกหลอของร่างกายอีกด้วย เนื่องจากเซลล์ของสิ่งมีชีวิตจะมีการแบ่งตัวแบบ "ไมโทซิส (mitosis cell division)" อยู่ตลอดเวลา ทั้งๆ ที่เซลล์ตั้งต้นที่ทำให้เราเกิดมานั้นจะมีแค่เซลล์เดียวที่เกิดจากไข่ (egg) ของแม่กับอสุจิ (sperm) ของพ่อ แต่นั้นก็เป็นเหมือนจุดเริ่มต้นของชีวิตที่ทำให้เกิดกลไกการแบ่งเซลล์ต่อมาเรื่อยๆ จนกระทั้งกลายเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งการแบ่งเซลล์แบบไมโทซิสนั้นจะประกอบไปด้วยขั้นตอนต่างๆ ดังนี้
1. ระยะอินเตอร์เฟส (interphase) เป็นระยะที่กิจกรรมต่างๆ ของเซลล์เกิดขึ้นสูง มีการสร้างส่วนประกอบต่างๆ ของเซลล์เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการแบ่งตัว ใช้เวลา 90% ของชีวิตเซลล์ นั่นคือ ครอบคลุมตั้งแต่ระยะ G1 S (มีการเพิ่มจำนวนโครมาทิดในระยะนี้) และ G2 (เป็นระยะที่เซลล์มีการสังเคราะห์สารต่างๆ เพื่อเตรียมเข้าสู่กระบวนการแบ่งนิวเคลียส)
2. ระยะโพรเฟส (prophase) ระยะนี้ในนิวเคลียสสารพันธุกรรมจะพันกันแน่นเข้าจนเริ่มเห็นเป็นรูปโครโมโซม เซนตริโอลเคลื่อนที่ไปยังแต่ละขั้วของเซลล์ เมื่อถึงช่วงสุดท้ายของระยะนี้ที่บางครั้งเรียกว่า "โพรเมตาเฟส (prometaphase)" จะมีการสร้างเส้นใยสปินเดิล (spindle fiber) ไปจับยังบริเวณไคนีโตคอร์ (kinetochore) ของโครโมโซม เยื่อหุ้มนิวเคลียสสลายไป
3. ระยะเมตาเฟส (metaphase) เส้นใยไมโตติกสปินเดิลสร้างเสร็จสมบูรณ์ โครโมโซมเรียงตัวตรงกลางเซลล์
4. ระยะแอนาเฟส (anaphase) ซิสเตอร์โครมาติด (sister chromatid) ของโครโมโซมแต่ละอันถูกดึงแยกจากกันไปยังขั้วของเซลล์ การดึงนี้ใช้พลังงาน ATP ระยะนี้สิ้นสุดเมื่อโครโมโซมทั้งหมดไปถึงขั้วของเซลล์
5. ระยะเทโลเฟส (telophase) และการแบ่งไซโตพลาสซึม (cytokinesis) เป็นระยะที่ตรงข้ามกับโพรเฟส คือโครโมโซมคลายตัวเป็นเส้นใยโครมาตินเหมือนเดิม มีการสร้างเยื่อหุ้มนิวเคลียสขึ้นอีกครั้ง จากนั้นจึงตามมาด้วยการแบ่งไซโตพลาสซึม ถ้าเป็นในเซลล์พืชจะมีการสร้างผนังเซลล์ขึ้นใหม่ตรงกลางเซลล์ เมื่อผนังเซลล์ใหม่ชนกับผนังเซลล์เดิมจะได้เซลล์ลูก 2 เซลล์
ขอบคุณภาพจาก: Campbell Biology, 9th ed.
vStudy Team. (เรียบเรียงโดย: สุวิชา ธงพานิช)
Website: vStudyapp.com
Facebook: http://www.facebook.com/vstudyapp
Twitter: @vStudyapp
Website: vStudyapp.com
Facebook: http://www.facebook.com/vstudyapp
Twitter: @vStudyapp