Thursday, November 21, 2013

ไข่ หนอน ดักแด้ แมลง

2

     หลายคนอาจจะชอบในความสวยงามของผีเสื้อ แต่กลับรังเกียจหนอนผีเสื้อ ทั้งๆ ที่มันก็คือสิ่งมีชีวิตเดียวกันเพียงแต่ระยะวัยต่างกัน ก็เหมือนกับทารกนั่นแหละครับ เพียงแต่การเจริญเติบโตของแมลงนั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างไปทุกระยะ โดยรูปร่างหน้าตาของตัวอ่อนแต่ละระยะนั้นก็จะแตกต่างกันออกไป เรียกว่า "เมตามอร์โฟซิส (metamorphosis)" ซึ่งเป็นการเจริญเติบโตหลังระยะเอ็มบริย์โอของแมลงและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินน้ำสะเทินบกบางชนิด ซึ่งในแมลงนั้นโดยจะมีเมตามอร์โฟซิส 4 แบบ ดังนี้
     1. ไม่มีเมตามอร์โฟซิส (ametamorphosis) ตัวอ่อนของแมลงในกลุ่มนี้จะมีลักษณะรูปร่างเหมือนกับในตัวเต็มวัยทุกอย่าง แต่จะมีขนาดเล็ก และจะค่อยๆ เจริญเติบโตและลอกคราบจนขนาดใหญ่ขึ้นเป็นตัวเต็มวัย เช่น แมลงสามง่าม แมลงหางดีด เป็นต้น
     2. มีเมตามอร์โฟซิสแบบค่อยเป็นค่อยไป (gradual metamorphosis) ตัวอ่อนของแมลงในกลุ่มนี้จะมีลักษณะคล้ายกับตัวเต็มวัย แต่จะไม่มีอวัยวะบางอย่าง เช่น ปีก ฯลฯ แต่เมื่อเจริญเติบโตขึ้นและลอกคราบอวัยวะนั้นก็จะเริ่มเจริญขึ้น เรียกตัวอ่อนระยะนี้ว่า "นิมฟ์ (nymph)" จากนั้นก็จะลอกคราบอีกหลายครั้งเพื่อเจริญเติบโตและขยายขนาดจนเป็นตัวเต็มวัย เช่น แมลงสาบ ปลวก ตั๊กแตน เป็นต้น
     3. มีเมตามอร์โฟซิสแบบไม่สมบูรณ์ (incomplete metamorphosis) ตัวอ่อนจะมีลักษณะคล้ายแมลงในกลุ่มที่มีเมตามอร์โฟซิสแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่จะมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างมากกว่า โดยส่วนใหญ่ตัวอ่อนของแมลงกลุ่มนี้จะอยู่ในน้ำหายใจด้วยเหงือก เรียกระยะนี้ว่า "ไนแอด (naiad)" จากนั้นจะลอกคราบแล้วขึ้นมาอยู่บนบกหายใจด้วยระบบท่อลม เช่น แมลงปอ ชีปะขาว และมวนส่วนใหญ่ เป็นต้น
     4. มีเมตามอร์โฟซิสแบบสมบูรณ์ (complete metamorphosis) การเจริญของตัวอ่อนของแมลงในกลุ่มนี้จะมีการเจริญเปลี่ยนแปลงรูปร่างครบทั้ง 4 ขั้นตอน คือ ระยะที่เป็นไข่ (egg) แล้วจึงฟักออกมาเป็นระยะตัวหนอนหรือลาร์วา (larva) จะเก็บสะสมอาหารโดยการกินเป็นจำนวนมากทำให้เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ก่อนจะเข้าสู่ระยะดักแด้ (pupa) โดยการสร้างเปลือกหุ้มตัวเองจากใยหรือเศษใบไม้ ฯลฯ และเมื่อออกจากดักแด้ก็จะเข้าสู้ระยะตัวเต็มวัย (adult) ซึ่งจะสามารถสืบพันธุ์ได้ต่อไป
1
vStudy Team. (เรียบเรียงโดย: สุวิชา ธงพานิช)
Website :: vStudyapp.com
Twitter :: @vStudyapp

No comments:

Post a Comment