Wednesday, September 25, 2013

เรื่องของรุ้ง (กินน้ำ)


     “ฟ้าหลังฝนงดงามเสมอ” หลายคนคงเคยได้ยินประโยคนี้นะครับ รวมถึงตัวผมเองด้วย ซึ่งก็คิดว่าที่เป็นแบบนั้นก็เพราะฟ้าหลังฝนมักจะเกิดปรากฎการณ์รุ้งกินน้ำทอดโค้งอยู่บนฟ้า หลายคนก็มองว่าเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์ แต่ความเป็นจริงของรุ้งกินน้ำนั้นก็ได้ถูกหลักการทางวิทยาศาสตร์เปิดโป่งไว้นานมากแล้วครับ โดยที่รุ้งกินน้ำซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นหลังจากฝนตก เกิดขึ้นจากแสงแดดส่องผ่านละอองน้ำในอากาศ ทำให้เกิดการหักเหของแสงขึ้นจึงเห็นเป็นแถบสีต่างๆ บนท้องฟ้า ซึ่งคล้ายกับการที่เราส่องแสงสีขาวผ่านปริซึมทำให้แสงเกิดการหักเห โดยหลักการที่ว่า “แสงที่มีความยาวคลื่นน้อยจะหักเหได้มากกว่าแสงที่มีความยาวคลื่นมาก”

     ทุกครั้งที่เราเห็นรุ้งกินน้ำ เราก็มักจะชื่นชมกับความงดงามจากสีทั้ง 7 ของมัน (ม่วง คราม น้ำเงิน เขียว เหลือง ส้ม แดง) แต่จะมีสักกี่คนที่สังเกตเห็นถึงความแตกต่างของรุ้งกินน้ำที่ปรากฏขึ้นบนท้องฟ้า ซึ่งมี 2 แบบ นั่นก็คือ รุ้งกินน้ำปฐมภูมิ และรุ้งกินน้ำทุติยภูมิ โดยมีความแตกต่างกันดังนี้ครับ

     1) รุ้งกินน้ำปฐมภูมิ เกิดจากแสงตกกระทบเข้ามาทางด้านบนของหยดน้ำ แล้วเกิดการกระจายในหยดน้ำ จากนั้นจึงเกิดการสะท้อนของแสงที่ผิวด้านในของหยดน้ำเพียงครั้งเดียว ก่อนจะหักเหของแสงออกจากหยดน้ำสู่อากาศ ทำให้เห็นแสงสีม่วงอยู่ชั้นในสุดและสีแดงอยู่ชั้นนอกสุด

     2) รุ้งกินน้ำทุติยภูมิ เกิดจากแสงตกกระทบเข้ามาทางด้านล่างของหยดน้ำ แล้วเกิดการกระจายในหยดน้ำ จากนั้นจึงเกิดการสะท้อนของแสงที่ผิวด้านในของหยดน้ำอีก 2 ครั้ง ก่อนจะหักเหของแสงออกจากหยดน้ำสู่อากาศ ทำให้เห็นแสงสีแดงอยู่ชั้นในสุดและสีม่วงอยู่ชั้นนอกสุด


     ขอบคุณภาพจาก: http://hyperphysics.phy-astr.gsu.edu/hbase/atmos/imgatm/lpath2.gif

vStudy Team. (เรียบเรียงโดย: สุวิชา ธงพานิช)
Website :: vStudyapp.com
Facebook :: http://www.facebook.com/vstudyapp
Twitter :: @vStudyapp

No comments:

Post a Comment