Sunday, September 8, 2013

"วิทยาศาสตร์เทียม" กับความเชื่อที่ถูกปลูกฝัง

 
     การแพทย์ลวงโลก โหราศาสตร์อ้างหลักวิทย์ มิติลี้ลับ ยาวิเศษรักษาทุกโลก พลังจิต อุปกรณ์สุดล้ำ ฯลฯ เหล่านี้ส่วนใหญ่ในปัจจุบันมักจะมีการอ้างถึงหลักการ และทฤษฎีต่างๆ ทางวิทยาศาสตร์ ในการโฆษณาทั้งสิ้น เพื่อดึงดูด เรียกร้อง และชักชวน ให้ผู้คนที่ผ่านไปมาเกิดความสนใจและหลงเชื่อมาแล้วนักต่อนัก บ้างก็ว่าเห็นผลดีจริงๆ บ้างก็บอกว่าคุ้มค่า บ้างก็เชื่ออย่างสนิทใจ แต่จะมีสักกี่คนที่จะรู้ว่า หลายสิ่งหลายอย่างที่มีการอ้างถึงความเป็นวิทยาศาสตร์นั้น มักจะเป็นเพียงความเชื่อ หรือความคิดว่าคงจะใช่ หรืออะไรก็ตามซึ่งอาจจะมีมูลเหตุแห่งความเป็นจริงอยู่ในเรื่องราวเหล่านั้นบ้าง แต่เชื่อได้เลยว่า มีแค่เพียงบางส่วนเท่านั้นที่สามารถอธิบายได้โดยใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์จริงๆ หรือบางเหตุการณ์ก็อาจไม่สามารถพิสูจน์ได้จริงโดยใช้วิทยาศาสตร์แต่อย่างใด จึงเป็นที่มาของคำว่า “วิทยาศาสตร์เทียม” หรือ “pseudoscience” นั่นเอง
 
     กระแสของวิทยาศาสตร์เทียมนั้น นับได้ว่ามีมานานเกือบ 200 ปีแล้ว เช่นเรื่องราวของศาสตร์ด้านหนึ่งที่ศึกษาเกี่ยวกับการทำนายนิสัยโดยพิจารณากะโหลกศีรษะ หรือ phrenology ในช่วงปี ค.ศ. 1820 ซึ่งต่อมาได้ถูกเรียกว่าเป็นวิทยาศาสตร์เทียมในปี ค.ศ. 1843 เป็นต้นมา เนื่องจากกระบวนการศึกษาทางด้าน phrenology นั้น มีหลายสิ่งที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นเท็จโดยใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ ทำให้ศาสตร์ดังกล่าวกลายเป็นวิทยาศาสตร์เทียมมาจนถึงทุกวันนี้

     สำหรับในประเทศไทยเรา ก็นับว่ามีกระแสวิทยาศาสตร์เทียมอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว ตั้งแต่เรียกเล็กๆ น้อยๆ เช่นการโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ เช่นกรณีเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด หรือ GT200 ที่เป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนาหูเมื่อไม่กี่ปีก่อน ซึ่งต่อมา ผศ.ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ก็ได้มีการอธิบายถึงกฎ 9 ข้อ ในการรู้เท่าทันวิทยาศาสตร์ไว้ ดังนี้
 
     1. การสร้างภาพลวงของกิเลสหรือความกลัว
     2. สร้างหลุมพรางกับดักทีละขั้นตอน โดยเริ่มจากการลอง ทดสอบ
     3. สร้างความน่าเชื่อถือ โดยปั้นตัวละครขึ้นมาเป็นกูรู เพื่อสร้างความเชื่อมั่น
     4. ก่อตั้งกลุ่มผู้ที่ศรัทธา โดยหากลุ่มคนที่มีเป้าหมายร่วมกัน มีความรู้เดียวกัน หรือมีศัตรูร่วมกัน
     5. ให้การหลอกลวงตัวเอง ใช้แล้วดี ต้องแนะนำให้คนอื่นใช้ต่อ เหมือนกับธุรกิจเครือข่ายหรือแชร์ลูกโซ่
     6. จัดการสาธิต หรือการนำเสนอที่น่าดึงดูดใจ
     7. ชักจูงใจด้วยสิ่งที่เชื่ออยู่ก่อนแล้ว โดยบอกว่าสินค้ายี่ห้อนี้แท้กว่ายี่ห้อนั้น
     8. ใช้การตีหลุมตามที่เชื่อกัน อะไรแพงกว่าอันนั้นดีกว่า หรือใช้ศัพท์ที่ฟังดูเป็นวิทยาศาสตร์หรือเป็นธรรมชาติ
     9. ทำลายฝ่ายตรงข้ามไม่ให้มีความน่าเชื่อถือ
 
     ขอบคุณข้อมูลจาก:
     เครดิตภาพ:
http://www.nationmultimedia.com/admin/specials/sound/file/gt200jan29.jpg

vStudy Team. (เรียบเรียงโดย: สุวิชา ธงพานิช)
Website :: vStudyapp.com
Twitter :: @vStudyapp

No comments:

Post a Comment