Tuesday, January 21, 2014

สาร(เคมี)กำจัดศัตรูพืช ตอนที่ 2

2
     ครั้งที่แล้วผมได้นำเสนอให้ทุกท่านรู้จักกับ สารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือที่เรียกกันติดปากว่า "ยาฆ่าแมลง" กันไปแล้วนะครับ วันนี้เลยจะขอมานำเสนอรูปแบบของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชกันต่อเลยนะครับ
     ปัจจุบัน ในประเทศไทยยังไม่สามารถผลิตสารตั้งต้น (Active Ingredient) จึงต้องนำเข้าสารเคมีทั้งแบบสำเร็จรูปและแบบเข้มข้นทั้งประเภท premix และ technical grade เพื่อมาปรุงแต่งและแบ่งบรรจุ สารเคมีที่ปรุงแต่งเสร็จแล้วจะมีสารออกฤทธิ์ที่น้อยลง เนื่องจากผ่านการเติมสารผสม (Inert Ingredients) เช่น สารจับใบ สารละลาย สารลดแรงตึงผิว เป็นต้น เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในการใช้ อย่างไรก็ตาม สารผสมเหล่านี้อาจมีความอันตรายเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น สารลดแรงตึงผิวที่ใช้ผสมกับราวด์อัพ (ไกลโฟเสท) เป็นต้น ที่น่าสนใจคือมีการผสมสารที่ทำให้อาเจียนในสารเคมีกำจัดศัตรูพืชบางชนิด เพื่อลดการเกิดพิษในกรณีที่ถูกใช้ในทางที่ผิด เช่น การฆ่าตัวตาย หรือเมื่อรับสารเข้าไปโดยอุบัติเหตุ
     สารเคมีกำจัดศัตรูพืชยังมีรูปแบบที่หลากหลาย ชนิดผงมีอยู่ 3 รูปแบบ คือ
     1) ผงฝุ่นละเอียด (Dustable powder: DP) ที่เอาไว้โรยและไม่ต้องผสมน้ำ แต่สารเคมีอาจฟุ้งกระจาย
     2) ผงผสมน้ำ (Wettable powder: WP) ที่ต้องใช้ทันทีเพื่อไม่ให้ตกตะกอน
     3) ผงแบบละลายในน้ำได้ (Soluble power: SP) ซึ่งจะไม่ตกตะกอน แต่เมื่อเก็บไว้นานๆ มักจับตัวเป็นก้อนแข็ง
     นอกจากนี้ ยังมีในส่วนที่เป็นรูปแบบเม็ด (Tablet: TB หรือ WT) แต่ไม่ค่อยเป็นที่นิยม เพราะมีลักษณะคล้ายคลึงกับยารักษาโรค รูปแบบเม็ดทราย (Granule: GR) เพื่อใช้หว่านหรือหยอดในดินเท่านั้น ห้ามละลายน้ำ ออกฤทธิ์ซึมเข้าไปผ่านระบบราก
     สารเคมีในรูปแบบของเหลว มีอยู่ประมาณ 5 รูปแบบ คือ
     1) ส่วนผสมสารเข้มข้น (Emulsifiable Concentrate: EC) ซึ่งเป็นรูปแบบที่นิยมมากที่สุด ต้องผสมน้ำก่อนใช้ มีสีขาวขุ่นและกลิ่นเหม็น สามารถดูดซึมได้ดีจึงต้องใช้อย่างระมัดระวัง
     2) แคปซูล (Capsule Suspension: CS) ที่มีสารเคมีรูปแบบของเหลวอยู่ข้างใน และจะซึมออกช้าๆ มีฤทธิ์คงทนยาวนาน 
     3) สารเข้มข้นแขวนลอย (Suspension Concentrate: SC) โดยสารออกฤทธิ์จะเป็นของแข็งแขวนลอยในสารละลายไม่ออกฤทธิ์
     4) สารเข้มข้นละลายได้ (Soluble Concentrate: SL) ซึ่งสารออกฤทธิ์จะละลายในน้ำหรือแอลกอฮอล์ได้ดี
     5) ของเหลวปริมาตรต่ำ (Ultra Low Volume Liquid) ที่ใช้สำหรับเครื่องพ่น อาจนับได้ว่าเป็นแบบ EC ชนิดพิเศษ
     ขอขอบคุณข้อมูลจาก: เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thailand Pesticide Alert Network: Thai-PAN)
vStudy Team. (เรียบเรียงโดย: สุวิชา ธงพานิช)
Website: vStudyapp.com
Facebook: http://www.facebook.com/vstudyapp
Twitter: @vStudyapp

No comments:

Post a Comment