Monday, December 23, 2013

แนะนำสาขาวิชา : การแพทย์แผนจีน ตอนจบ

2
     มาถึงตอนสุดท้ายของการแนะนำสาขาวิชาการแพทย์แผนจีนกันแล้วนะครับ หวังว่าน้องๆ หลายคนคงพอจะได้แนวทางในการศึกษากันบ้างไม่มากก็น้อยนะครับ ลองมาดูประเด็นต่อไปนี้เป็นการส่งท้ายแล้วกันครับ
     ความน่าเชื่อถือและการรับรองคุณวุฒิของแพทย์จีนในประเทศไทย
     หลักจากที่องค์การอนามัยโลก (WHO)ได้ออกมาประกาศยอมรับการแพทย์แผนจีนแล้ว ประเทศไทยก็ได้มีการทำสัญญาความร่วมมือทางการแพทย์กับสาธารณรัฐประชาชนจีน และได้มีการจัดตั้งศูนย์การแพทย์ไทย-จีน ขึ้นทำให้แพทย์จีนได้รับการยอมรับจากคนไทยมากขึ้น และในปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้มีการกำหนดให้แพทย์จีนในประเทศไทยที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ จะต้องเข้ารับการทดสอบปีละหนึ่งครั้งทุกปี เพื่อเป็นการสร้างมาตรฐานทางการแพทย์แผนจีน แต่ต่อไปหากมีบัณฑิตแพทย์จีนที่ศึกษาจบจากมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงการเข้ารับการทดสอบโดยที่บัณฑิตแพทย์จีนจะต้องเข้ารับการทดสอบความรู้ทุก ๆ 5 ปีเพื่อต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ
     ขอบเขตการรักษาและหลักในการทำงานของแพทย์จีน
     การแพทย์แผนจีนในประเทศไทย ขณะนี้ถึงแม้จะได้รับการยอมรับมากขึ้นและได้รับการรับรองจากหน่วยงานต่าง ๆ มากมาย แต่รัฐบาลก็ต้องมีการกำหนดขอบเขตของแพทย์จีน เพราะผลทางการรักษาของแพทย์แผนจีนยังไม่มีความชัดเจน ถึงแม้จะได้ผลดีมาโดยตลอด และได้มีการกำหนดร่างพ.ร.ฎ.กำหนด ให้สาขาการแพทย์แผนจีนเป็นสาขาการประกอบโรคศิลปะตามพ.ร.บ.การประกอบโรคศิลปะพ.ศ.2542 (ปวินท์ สุวรรณกุล, สัมภาษณ์)
     ในการรักษาของแพทย์จีนนั้นได้มีการกำหนดกฎหมายไว้ในลักษณะที่ว่า แพทย์จีนจะต้องรักษาผู้ป่วยโดยใช้ความรู้ทางศาสตร์การแพทย์แผนจีนเท่านั้น ไม่สามารถใช้การรักษาในศาสตร์การแพทย์แผนปัจจุบันได้ ซึ่งรวมไปถึงการใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ผลิตขึ้นโดยความรู้ทางด้านการแพทย์แผนปัจจุบัน เช่น เครื่องเอกซเรย์ เครื่องตรวจคลื่นหัวใจ เครื่องช่วยหายใจ เครื่องวัดความดัน รวมถึงมีด เข็มฉีดยา และอุปกรณ์ผ่าตัดอื่นๆ เป็นต้น แต่ก็ไม่ได้ถือเป็นอุปสรรค์ในการรักษาของแพทย์จีนแต่อย่างใด เพราะแพทย์จีนมีหลักในการรักษาที่อาศัยหลักการทำงานของระบบลมปราณ และความสมดุลของธาตุในร่างกาย ประกอบกับในการตรวจวินิจฉัยโดยอาศัยประสาทสัมผัส (ภาสกิจ (วิทวัส) วัณนาวิบูล 2548: 1-3) ตามหลักความรู้ที่ได้จากตำรา หวงตี้เน่ยจิง*(黄帝内经) ของแพทย์จีนโบราณ จึงไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ใดช่วย และการรักษาจะเป็นการปรับสมดุลในร่างกายโดยใช้การกระตุ้นระบบประสาทของผู้ป่วยซึ่งมีหลายวิธี เช่น การฝังเข็ม และการกดจุด เป็นต้น บางครั้งจะใช้หลักในการกระตุ้นธาตุจากภายในร่างกายโดยการใช้ยาสมุนไพร ทำให้แพทย์จีนไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์แผนปัจจุบันมาช่วยในการรักษา
     สรุป
     การแพทย์แผนจีนเป็นศาสตร์การแพทย์ที่มีคุณค่าของประเทศจีน และจากการแสดงประสิทธิภาพทางการรักษาที่ดีของแพทย์จีน ทำให้ได้รับการยอบรับอย่างแพร่หลายและรวดเร็วมากในระยะเวลาอันสั้น ประกอบกับการรักษาของแพทย์จีนมีจุดเด่นหลายอย่าง เช่น ไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์หรือสารเคมีซึ่งมีความเสี่ยง ไม่เสียเวลามากในการตรวจวินิจฉัยเบื้องต้น และสามารถเข้าถึงผู้ป่วยได้ทุกภูมิภาค เป็นต้น จึงทำให้การแพทย์แผนจีนกลายเป็นการแพทย์ทางเลือกทางหนึ่งที่น่าสนใจมาก สำหรับประเทศไทยการแพทย์แผนจีนก็ถือว่ามีความสำคัญและประชาชนให้ความสำคัญมาก จึงทำให้การแพทย์แผนจีนเข้ามามีบทบาทในสังคมไทยมากขึ้นทุกวัน และมีพัฒนาการที่รวดเร็วนับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน และจะพัฒนาต่อไปในอนาคตด้วยความรู้ของบัณฑิตไทย
     *หวงตี้เน่ยจิง(黄帝内)เป็นหนังสือตำราแพทย์ ซึ่งเป็นพื้นฐานของตำราแพทย์ในโบราณ หวงตี้เน่ยจิงมีทั้งหมด 81 บทลักษณะเป็นปุจจฉา-วิสัชนาของหวงตี้กับข้าราชบริพารเกี่ยวกับโรคภัยต่าง ๆ ส่วนแรก เรียกว่า “คำถามทั่วไป” (素問) เนื้อหากล่าวถึงพื้นฐานของยาจีนโบราณ อาการของโรค และวิธีการรักษา ส่วนที่สองเรียกว่า “จุดสำคัญในร่างกาย” หลิงซู(靈樞) ซึ่งกล่าวถึงการฝังเข็มโดยละเอียด
     แหล่งอ้างอิง
     1. ปวินท์ สุวรรณกุล. ผู้ช่วยคณบดีคณะการแพทย์แผนจีน มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ. สัมภาษณ์,7 เมษายน 2551.      
     2. ปวินท์ สุวรรณกุล. “มาเรียนแพทย์แผนจีนกันเถอะ.”  จุลสารการแพทย์แผนจีน. 4,1 (2550) : 6-9.
     3. ภาสกิจ (วิทวัส) วัณนาวิบูล. “แนวคิด: การตรวจวินิจฉัยของศาสตร์แพทย์แผนจีน.”ตำราการแพทย์แผนจีน:การตรวจวินิจฉัย, 1-3. กรุงเทพมหานคร: หมอชาวบ้าน, 2548.     
     4. มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม. วิทยาลัยการแพทย์ทางเลือก. “การศึกษาแพทย์แผนจีน มหาวิทยาลัยจันทรเกษม.” [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.chandra.ac.th/office/chaina/TCMCOM.pdf 2549.สืบค้น 4 พฤษภาคม 2551.
     5. มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย. วิทยาลัยการแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือก. “พจ.บ.แพทย์จีน.”[ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.lannadoctor.com/index.php?option=com_content&task=view&id=19&Itemid=41 [ม.ป.ป.]. สืบค้น 4 พฤษภาคม 2551. 
     6. วิทิต วัณนาวิบูล. ประวัติการแพทย์จีน. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2537.    
vStudy Team. (เรียบเรียงโดย: สุวิชา ธงพานิช)
Website: vStudyapp.com
Facebook: http://www.facebook.com/vstudyapp
Twitter: @vStudyapp

แนะนำสาขาวิชา : การแพทย์แผนจีน ตอนที่ 3

2
     มหาวิทยาลัยในประเทศไทยหลายแห่งได้ทำการเปิดหลักสูตรปริญญาตรีสาขาการแพทย์แผนจีน เพื่อผลิตบัณฑิตแพทย์จีนที่มีคุณภาพโดยได้รับความร่วมมือและความช่วยเหลือจากมหาวิทยาลัยในสาธารณรัฐประชาชนจีน เช่น การสอนภาษาจีน วิชาการแพทย์จีน เภสัชจีน การฝึกงานเป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการเปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรเฉพาะด้าน ในระดับประกาศนียบัตรบัณฑิตสำหรับแพทย์แผนปัจจุบันเพื่อเป็นการเปิดมุมมองและสร้างทัศนะคติที่ดีให้แก่แพทย์แผนปัจจุบันให้เข้าใจการแพทย์แผนจีนมากขึ้น [1] การที่นักศึกษาแพทย์จีนของประเทศไทยได้มีโอกาสรับความรู้จากสาธารณรัฐประชาชนจีน นับว่าเป็นการดีสำหรับประเทศไทย และประเทศไทยควรจะต้องรักษาความร่วมมือกับจีนเอาไว้ให้ยาวนานที่สุดเพื่อการพัฒนาทางด้านการแพทย์แผนจีนของไทย
     ขณะนี้ประเทศไทยมีแพทย์จีนอยู่ทั่วประเทศ แต่ก็เป็นจำนวนน้อยมากและส่วนใหญ่ก็จะเป็นแพทย์จีนจากเมืองจีนที่อาศัยความความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดมาในการรักษาผู้ป่วย ดังนั้นประเทศไทยจึงต้องการ แพทย์จีนที่มีความรู้ที่เป็นมาตรฐานและได้รับการยอมรับจากกระทรวงสาธารณสุข ทำให้กระทรวง ศึกษาธิการได้มีการรับรองหลักสูตรด้านการแพทย์แผนจีนในมหาวิทยาลัยของประเทศไทย ในการผลิตบัณฑิตแพทย์จีน นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรในระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต และหลักสูตรเฉพาะทางที่เปิดสอนด้านการแพทย์แผนจีนให้แก่นักศึกษาไทย ดังนี้
     1 หลักสูตรระดับปริญญาบัณฑิต 
     หลักสูตรในระดับปริญญาบัณฑิต เป็นหลักสูตรที่เปิดสอนในระดับปริญญาตรี เมื่อศึกษาจบหลักสูตรแล้วจะสามารถสอบรับใบประกอบโรคศิลปะทางการแพทย์แผนจีนได้ และจะได้รับการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุข หลักสูตรในระดับปริญญาบัณฑิต สาขาการแพทย์แผนจีนในประเทศไทย ได้แก่
     1.1 หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.) สาขาการแพทย์แผนจีน เป็นหลักสูตรที่เปิดสอนการแพทย์แผนจีนแห่งแรกในประเทศไทย โดยคณะการแพทย์แผนจีน มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ เป็นหลักสูตร 5 ปี(สำหรับผู้ที่มีพื้นฐานทางภาษาจีน) และมีการจัดการศึกษาด้านพื้นฐานทางภาษาจีนเป็นเวลา 1 ปีให้กับนักศึกษาที่ไม่มีความรู้ทางภาษาจีน โดยได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยการแพทย์แผนจีนเซี่ยงไฮ้ (Shanghai University of Traditional Chinese Medicine) โดยมีการทำสัญญาหลักสูตรร่วมระหว่างทั้งสองมหาวิทยาลัย ดังนั้นนักศึกษาที่จบหลักสูตรจะได้รับปริญญาร่วมสองสถาบัน ได้รับการยอมรับทั้งจากประเทศไทยและสาธารณะรัฐประชาชนจีน และมีสิทธิในการสอบใบประกอบโรคศิลปะ
     ผู้ที่จะเข้าศึกษาในหลักสูตรนี้ได้จะต้องจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายแผนการเรียนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ หรือเทียบเท่า สำหรับผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีแล้วสามารถเทียบโอนหน่วยกิจในรายวิชาที่ฃศึกษามาแล้วได้ตามระเบียบของมหาวิทยาลัย สำหรับการศึกษาหลักสูตรนี้ จะต้องศึกษาในรายวิชาหมวดต่าง ๆ ให้ครบและสอบวัดระดับความรู้ทางภาษาจีน (HSK) ได้ถึงระดับ 6 [2] และจะต้องศึกษารายวิชาต่าง ๆ ไม่ต่ำกว่า 182 หน่วยกิจ สำหรับชั้นปีสุดท้ายก่อนจะจบการศึกษาจะมีการฝึกงานทางคลินิก ช่วงแรกจะทำการฝึกงาน ณ โรงพยาบาลหัวเฉียวและโรงพยาบาลอื่นๆในประเทศไทย และช่วงที่สองจะทำการฝึกงาน ณ โรงพยาบาลการแพทย์แผนจีนเซี่ยงไฮ้ในสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยจะใช้เวลาช่วงละ 6 เดือน
     1.2 หลักสูตรการแพทย์แผนจีนบัณฑิต (พจ.บ.) สาขาการแพทย์แผนจีน ทำการสอนโดย วิทยาลัยการแพทย์ทางเลือก มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม เป็นหลักสูตร 5 ปี และมีการจัดการศึกษาด้านพื้นฐานทางภาษาจีนระยะเวลา 1 ปีให้กับนักศึกษาที่ไม่มีความรู้ทางภาษาจีน เป็นหลักสูตรที่ได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเซียะเหมิน (Xiamen University) ดังนั้นนักศึกษาที่จบจากหลักสูตรนี้จะได้รับปริญญาร่วมทั้งสองสถาบัน และจะได้รับการยอมรับทั้งจากประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน
     ผู้ที่จะเข้าศึกษาในหลักสูตรนี้จะต้องมีคุณสมบัติ จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือเทียบเท่าโดยไม่จำกัดแผนการเรียนและสามารถเทียบโอนหน่วยกิจได้สำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาเป็นปริญญาใบที่สอง มีหน่วยกิจรวมตลอดหลักสูตร 194 หน่วยกิจเนื้อหารายวิชาที่ศึกษานั้นจะต่างจากคณะการแพทย์แผนจีน มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ บ้างเล็กน้อยโดยที่ในหมวดวิชาพื้นฐานวิชาชีพและวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะไม่เน้นการศึกษาในด้านวิทยาศาสตร์มากนักเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสูตรของมหาวิทยาลัยเซียะเหมิน ซึ่งเน้นการศึกษาการแพทย์แผนจีนโดยอาศัยหลักการทางแพทย์แผนจีนโบราณ ไม่เน้นการอธิบายทางด้านวิทยาศาสตร์ แต่สำหรับวิชาเฉพาะด้านการแพทย์แผนจีนนั้นจะมีบางรายวิชาที่เพิ่มเติมขึ้นมาเช่น ศัลยศาสตร์แพทย์จีน(ในประเทศไทยไม่สามารถใช้รักษาได้ตามกฎหมาย) และศาสตร์หูคอจมูก เป็นต้น[3] ในการศึกษาวิชาแพทย์แผนจีนของมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม จะมีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเซียะเหมินเป็นผู้สอน ดังนั้นการศึกษาภาษาจีนจึงมีความจำเป็นมากเช่นกัน แต่สำหรับหลักสูตรแพทย์แผนจีนบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม จะมีการกำหนดระดับของการสอบวัดระดับภาษาจีนเพียงระดับ 4 เท่านั้นตามข้อตกลงกับมหาวิทยาลัยเซียะเหมิน
     1.3 หลักสูตรการแพทย์แผนจีนบัณฑิต (พจ.บ.) สาขาการแพทย์แผนจีน ทำการสอนโดย วิทยาลัยการแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือกมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เป็นหลักสูตร 5 ปี(สำหรับผู้ที่มีพื้นฐานทางภาษาจีน เป็นหลักสูตรที่ได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยแพทย์จีนหยุนหนาน(Yunnan University of Traditional Chinese Medicine) โดยในปี 1-4 จะทำการศึกษา ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย และในปีที่ 5 จะทำงานศึกษา ณ มหาวิทยาลัยแพทย์จีนหยุนหนาน รวมทั้งการฝึกงานด้วยผู้ที่จะเข้าศึกษาในหลักสูตรนี้จะต้องมีคุณสมบัติ จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือเทียบเท่าโดยจะต้องศึกษารายวิชาวิทยาศาสตร์มาแล้วไม่น้อยกว่า 18 หน่วยกิจ การศึกษาจะศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ผสมกับการแพทย์แผนจีนโบราณ และเน้นการใช้ยาสมุนไพร ตามหลักสูตรของมหาวิทยาลัยแพทย์จีนหยุนหนาน [4]
     2 หลักสูตรระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต
     เป็นหลักสูตรในระดับบัณฑิตศึกษา เปิดโอกาสให้ผู้ที่ศึกษาจบในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตเข้าศึกษา เพื่อเป็นการเสริมความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านและสร้างทัศนะคติที่เกี่ยวกับการแพทย์แผนจีนให้กับแพทย์แผนปัจจุบัน โดยจะสอนในสาขาวิชาเฉพาะทางของการแพทย์แผนจีนเช่น การฝังเข็ม การรมยา การนวดทุยหน่า และสมุนไรจีน เป็นต้นการศึกษาในระดับนี้จะไม่สามารถสอบใบประกอบโรคศิลปะและไม่สามารถเปิดคลินิกส่วนตัวได้ เนื่องจากเป็นการศึกษาเพียงเฉพาะด้าน แต่ก็นับว่ามีความสำคัญมากต่อการพัฒนาการแพทย์แผนจีนของประเทศไทย
     3 หลักสูตรอบรมระยะสั้น
     เป็นหลักสูตรที่เปิดสอนให้แก่ประชาชนทั่วไป เพื่อให้มีความรู้พื้นฐานทางการแพทย์แผนจีน เป็นการกระจายความรู้ด้านการแพทย์แผนจีนสู่ประชาชนทั่วไป เพื่อให้การแพทย์แผนจีนเป็นที่ยอมรับมากขึ้นในประเทศไทย สำหรับผู้ที่จะเข้าอบรมจะต้องมีคุณสมบัติตามที่แต่ละหน่วยงานกำหนดไว้ ซึ่งอาจจะแตกต่างกันไปตามแต่ละหัวข้ออบรม และเมื่อจบการอบรมแล้วจะได้ใบประกาศการผ่านการฝึกอบรมในหัวข้อนั้น ๆ และสามารถนำไปต่อยอดในการสมัครงานในสถานพยาบาลในตำแหน่งผู้ช่วยแพทย์จีนในอนาคต [1]
     แหล่งอ้างอิง
     1. ปวินท์ สุวรรณกุล. ผู้ช่วยคณบดีคณะการแพทย์แผนจีน มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ. สัมภาษณ์, 7 เมษายน 2551.    
     2. ปวินท์ สุวรรณกุล. “มาเรียนแพทย์แผนจีนกันเถอะ.”  จุลสารการแพทย์แผนจีน. 4,1 (2550) : 6-9.        
     3. มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม. วิทยาลัยการแพทย์ทางเลือก. “การศึกษาแพทย์แผนจีน มหาวิทยาลัยจันทรเกษม.” [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.chandra.ac.th/office/chaina/TCMCOM.pdf 2549.สืบค้น 4 พฤษภาคม 2551.
     4. มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย. วิทยาลัยการแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือก. “พจ.บ.แพทย์จีน.”[ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.lannadoctor.com/index.php?option=com_content&task=view&id=19&Itemid=41 [ม.ป.ป.]. สืบค้น 4 พฤษภาคม 2551.  
vStudy Team. (เรียบเรียงโดย: สุวิชา ธงพานิช)
Website: vStudyapp.com
Facebook: http://www.facebook.com/vstudyapp
Twitter: @vStudyapp

Sunday, December 22, 2013

แนะนำสาขาวิชา : การแพทย์แผนจีน ตอนที่ 2

2
     ต่อเนื่องจากบทความที่แล้วนะครับที่ได้นำเสนอไปถึงประเด็นที่ว่า ครั้งที่ประเทศจีนปิดประเทศนั้น ความรู้ทางด้านการแพทย์แผนจีนก็หยุดชะงักลงไปหลายปี จนเมื่อจีนเปิดประเทศอีกครั้งความรู้ทางด้านการแพทย์แผนจีนจึงได้แพร่หลายออกไปสู่ภูมิภาคต่างๆทั่วโลกอีกครั้ง จนได้รับการยอมรับจากประเทศในแถบตะวันตก และองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกมาประกาศยอมรับศาสตร์การแพทย์แผนจีน
     สำหรับประเทศไทยได้มีการลงนามความร่วมมือทางด้านการแพทย์และสุขภาพในด้านต่างๆกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ในปี พ.ศ.2540 โดยนายมนตรี พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น ต่อมาในปี พ.ศ.2543 นายกร ทัพรังสี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้นได้ทำบันทึกข้อตกลงกับสาธารณรัฐประชาชนจีน คือบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการจัดตั้งศูนย์การแพทย์ไทย - จีน [1] ทำให้ศาสตร์การแพทย์แผนจีนเข้ามามีบทบาทในประเทศไทยมากขึ้นในขณะนี้ประเทศไทยมีแพทย์จีนกว่า 200 คน ที่ได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุขตามกฎหมายว่าด้วยการแพทย์ทางเลือก ปัจจุบันครอบคลุมถึงแพทย์จีนที่เดินทางเข้ามาในไทยด้วย เมื่อได้รับใบอนุญาตแล้วจะอนุญาตให้บุคคลที่ประกอบโรคศิลปะ ศาสตร์การแพทย์แผนจีนสามารถดำเนินกิจกรรมรักษาโรคได้
     ปัจจุบันพบหลักฐานจำนวนมากที่ยืนยันประสิทธิภาพทางการรักษาของการแพทย์แผนจีนมากมาย โดยเฉพาะวิชาฝังเข็ม และสมุนไพร และจากหลักฐานความเป็นมาอันยาวนานของศาสตร์การแพทย์แผนจีน ได้มีการค้นพบ ตำราพระโอสถพระนารายณ์ (ตำที่รวบรวมข้อมูลยาในราชสำนักของไทย ประกอบด้วยตำรับยาล้านนา ยุโรป ไทย และจีน) ที่เชื่อกันว่าเป็นตำราแพทย์สมัยอยุธยา ได้บันทึกตำรับยาขนานที่ 11 ระบุว่าหมอจีนเป็นผู้ปรุงยาถวาย ถือเป็นหลักฐานที่แสดงว่าการแพทย์แผนจีนนั้น ได้เข้ามาสู่เมืองไทยตั้งแต่อยุธยาจากการเข้ามาตั้งรกรากของแพทย์จีน[1] แต่ยังไม่เป็นที่ยอมรับ และสืบทอดต่อมาจนในปัจจุบันการแพทย์แผนจีนในประเทศไทยได้รับการยอมรับอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีการจัดไว้เป็นหนึ่งในศาสตร์การแพทย์ทางเลือก ที่รับรองโดยกระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทย ถือได้ว่าเป็นศาสตร์ทางการแพทย์อีกหนึ่งทางเลือกที่มีความสำคัญมากขึ้นทุกวัน เนื่องจากวิธีการหรือขั้นตอนในการตรวจรักษานั้นไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ใดๆ ช่วยเหมือนแพทย์แผนปัจจุบัน จึงทำให้เสียค่าใช้จ่ายในการรักษาน้อยกว่าแพทย์แผนปัจจุบัน และช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดจากอุปกรณ์ชำรุดเสียหายทำให้ในปัจจุบันคนส่วนใหญ่เริ่มหันมารักษากับแพทย์จีนกันมากขึ้น
     แต่อย่างไรก็ตามการแพทย์แผนจีนยังไม่สามารถที่จะรักษาโรคได้ทุกโรค แต่ก็สามารถรักษาโรคบางโรคที่แพทย์แผนปัจจุบันรักษาให้หายขาดไม่ได้ ดังคำให้สัมภาษณ์ของอาจารย์ปวินท์สุวรรณกุล [2] ผู้ช่วยคณบดีคณะการแพทย์แผนจีนมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ที่ว่า
     ...แพทย์แผนปัจจุบันมุ่งรักษาโรค แต่การแพทย์แผนจีนมุ่งรักษาคน อย่างไรก็ตาม แพทย์แผนจีนไม่ได้รักษาได้ทุกโรค ต้องให้ความระมัดระวัง แพทย์จีนส่วนใหญ่ในประเทศจีนตอนนี้ก็มีการผสมผสานการแพทย์แผนปัจจุบันด้วย คิดว่า ทั้งสองอย่างต้องใช้อย่างควบคู่กัน ผสมผสานกัน เช่นการตรวจอาการเบื้องต้นบางอย่าง เช่น การตรวจหาการตั้งครรภ์ หากใช้วิธีแมะก็ประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่าการไปตรวจด้วยเครื่องมือแพทย์ในโรงพยาบาล เป็นต้น
     หากประเทศไทยช่วยสงเสริมและให้สิทธิทางการรักษาแก่แพทย์จีนที่จบจากสถาบันในประเทศไทยอย่างเสรีภายใต้ขอบเขตของกฎหมายแล้ว การเข้าถึงการรักษาของผู้คนในชุมชนที่ห่างไกลก็จะมีโอกาสมากขึ้น เนื่องจากแพทย์จีนสามารถเข้าถึงประชาชนได้ทุกภูมิภาคโดยที่การรักษาไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีใด ๆ ใช้เพียงความรู้และความชำนาญของแพทย์เท่านั้น จึงทำให้เหมาะสมกับสภาพสังคมในชนบทของประเทศไทยมากกว่าการแพทย์แผนปัจจุบัน แม้แต่ในสังคมเมืองการแพทย์แผนจีนก็ยังเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ป่วยเช่นกัน เพราะในการรักษาโรคบางชนิดการแพทย์แผนปัจจุบันอาจใช้วิธีการรักษาโดยอาศัยสารรังสีในการรักษาทำให้เกิดการตกค้างของสารเหล่านั้นได้ ถ้าสะสมเป็นเวลานานก็จะทำให้ร่างกายผิดปกติได้ ดังนั้นการแพทย์แผนจีนจึงสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการตกค้างของสารในร่างกายของผู้ป่วยได้ ประกอบกับสังคมในปัจจุบันเป็นสังคมที่ต้องแข่งขันทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ใช้เวลาเกือบทั้งวันให้กับการทำงานจนละเลยความเจ็บป่วย เพราะการไปพบแพทย์เผื่อตรวจวินิจฉัยโรคตามโรงพยาบาลนั้นจะต้องเสียเวลาในการตรวจเกือบทั้งวันจึงทำให้เกิดความคิดว่าเป็นการเสียเวลาจึงใช้การซื้อยารับประทานเอง แต่หากแพทย์จีนในประเทศไทยมีการยอมรับมากขึ้นและสามารถร่วมรักษากับการแพทย์แผนปัจจุบันได้ก็จะทำให้การตรวจโรคนั้นไม่ได้เป็นการเสียเวลาอีกต่อไป ขอเพียงมีการจัดการที่ดีพอสำหรับการรักษาและการตรวจวินิจฉัยร่วมกันของแพทย์
     ประเทศไทยในปัจจุบันมีแพทย์จีนที่ได้ขึ้นทะเบียนและมีใบประกอบโรคศิลปะจากกระทรวงสาธารณสุขอยู่ 216 คนทั่วประเทศ [1] โดยที่ส่วนใหญ่แล้วเป็นแพทย์จีนที่มาจากสาธารณรัฐประชาชนจีนและได้รับการถ่ายทอดความรู้จากบรรพบุรุษซึ่งแต่ละคนก็จะมีความชำนาญที่แตกต่างกันออกไปและมาตรฐานการรักษาของแพทย์แผนจีนก็ยังไม่มีความชัดเจน
     ปัจจุบันจึงได้มีเปิดสอนหลักสูตรการแพทย์แผนจีนในระดับปริญญาขึ้นโดยที่มีกระทรวง ศึกษาธิการรับรอง และบัณฑิตที่ศึกษาจบสาขาการแพทย์แพทย์จีนก็จะสามารถสอบขอรับใบประกอบโรคศิลปะจากกระทรวงสาธารณสุขได้ แต่ในขณะนี้ยังไม่มีการรับรองให้แพทย์จีนเปิดคลินิกส่วนตัวได้เต็มที่เนื่องจากยังไม่มีมาตรฐานในการรักษาของแพทย์จีนประกอบกับในขณะนี้ยังไม่มีบัณฑิตของประเทศไทยที่จบการศึกษาในหลักสูตรการแพทย์แผนจีน แต่หากในอนาคตบัณฑิตแพทย์จีนของประเทศไทยได้แสดงความสามารถในการรักษาคนไข้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีมาตรฐานเดียวกัน ก็คงจะมีการรับรองให้แพทย์จีนของไทยสามารถเปิดคลินิกอิสระส่วนตัวได้เหมือนกับแพทย์แผนปัจจุบันดังนั้นประเทศไทยจึงต้องการแพทย์จีนที่เป็นบัณฑิตไทยจำนวนมากเพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับคนไทย ในการดูแลรักษาสุขภาพ ดังที่จะกล่าวถึงสถาบันที่เปิดสอนในหลักสูตรการแพทย์แผนจีนในประเทศไทย ในบทความต่อไปนะครับ[3]
     แหล่งอ้างอิง
     1. ปวินท์ สุวรรณกุล. “มาเรียนแพทย์แผนจีนกันเถอะ.”  จุลสารการแพทย์แผนจีน. 4,1 (2550) : 6-9.
     2. ปวินท์ สุวรรณกุล. ผู้ช่วยคณบดีคณะการแพทย์แผนจีน มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ. สัมภาษณ์, 7 เมษายน 2551.
     3. สุวิชา ธงพานิช. “การแพทย์แผนจีนในประเทศไทย.” ภาคนิพนธ์ประกอบรายวิชา 2206101 การค้นคว้าและการเขียนรายงานเชิงวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2550.
vStudy Team. (เรียบเรียงโดย: สุวิชา ธงพานิช)
Website: vStudyapp.com
Facebook: http://www.facebook.com/vstudyapp
Twitter: @vStudyapp

Wednesday, December 18, 2013

แนะนำสาขาวิชา : การแพทย์แผนจีน ตอนที่ 1

2
     ช่วงปลายปีแบบนี้ น้องๆ หลายคนคงกำลังวิ่งวุ่นหามหาวิทยาลัยเพื่อเรียนต่อกันอย่างเอาจริงเอาจัง ซึ่งในขณะนี้ประเทศของเราก็ได้มีมหาวิทยาลัยเปิดขึ้นมากมายหลายแห่ง รวมถึงมีการเปิดการเรียนการสอนในสาขาวิชาต่างๆ มากมายก่ายกอง รวมถึงมีศาสตร์ใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมายอยู่ตลอดเวลา กระผมจึงอยากจะขอนำเสนอข้อมูลของสาขาวิชาต่างๆ ที่น่าสนใจและยังมีคนรู้จักน้อยอยู่ เพื่อให้น้องๆ ใช้ในการประกอบการตัดสินใจอีกทางหนึ่ง โดยเริ่มจากสาขาวิชาแรกเลยครับ เป็นสาขาวิชาทางด้านการแพทย์ทางเลือกที่ยังมีมหาวิทยาลัยไทยเปิดการเรียนการสอนอยู่น้อย
     หากกล่าวถึงศาสตร์ด้านการแพทย์ เราไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่าศาสตร์ด้านการแพทย์เป็นศาสตร์ที่สำคัญต่อมนุษย์มาก เพราะเป็นศาสตร์ที่ใช้ในการรักษา บรรเทา ฟื้นฟู และดูแลชีวิตของมนุษย์ อันเป็นผลมาจากการเสื่อมถอยของร่างกายและอุบัติเหตุ ศาสตร์การแพทย์ที่เกิดขึ้นมาในแต่ละภูมิภาคของโลกนั้นอาจไม่ได้เกิดจากรูปแบบทางความรู้ที่มาจากหลักการเดียวกัน แต่ทุกศาสตร์ต่างก็มีจุดประสงค์เดียวกันก็คือการบรรเทาความทุกข์ที่เกิดจากการเจ็บป่วยทางกายของมนุษย์เหมือนกันทั้งสิ้น
     การแพทย์แผนจีน เป็นศาสตร์การแพทย์หนึ่งของโลกที่สืบทอดต่อเนื่องกันมาเป็นเวลาหลายพันปี ถือได้ว่าเป็นศาสตร์ที่ทรงคุณค่าของชาวจีน ได้มีการค้นพบหลักฐานและข้อมูลจำนวนมากที่ยืนยันประสิทธิผลของศาสตร์การแพทย์แผนจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาฝังเข็มและสมุนไพรต่างๆ จากจีนซึ่งเป็นแหล่งอารยะธรรมสำคัญแห่งโลกตะวันออกที่เข้มแข็ง การแพทย์แผนจีนได้ถูกแบ่งออกเป็นยุคต่างๆ [1] ไว้ดังนี้
     ยุคโบราณ มีการประดิษฐ์เข็มหิน 9 เล่ม เพื่อใช้ในการรักษา เป็นที่มาของการฝังเข็ม นอกจากนี้ยังพบบันทึกตำราแพทย์ของจักรพรรดิหวงตี้
     ยุคราชวงศ์เชี่ย ถึง ยุคชุนชิว มีการนำเหล้ามาใช้ทำยา พบภาชนะสำหรับต้มยาและเอกสารโบราณชื่อ "ซานไห่จิง (山海轻)" เป็นเอกสารทางภูมิศาสตร์แต่กล่าวถึงยาสมุนไพรไว้ราว 20 ชนิด
     ยุคก่อกำเนิดทฤษฎีการแพทย์จีน จากยุคจั้นกั๋ว ถึง ยุคสามก๊ก พบตำราการแพทย์เขียนบนผ้าไหมและไม้ไผ่จากสุสานหม่าหวายตุย แห่งราชวงศ์ฮั่น เป็นตำราที่สรุปหลักการสำหรับสุขภาพและการรักษาโรค
     ยุคราชวงศ์ฉิน มีแพทย์รักษาโรคและปรุงยาอายุวัฒนะเรียกว่า "พวกฟางซื่อ" มีการสร้างเรือและนำเยาวชนชายและหญิงจำนวนหนึ่งออกไปค้นหายาอายุวัฒนะ
     ยุคราชวงศ์ซ่ง ถึง ยุคราชวงศ์หมิง เริ่มมีการผลิตหนังสือ มีการรวบรวมเอกสารด้านการแพทย์จำนวนมาก ทำให้เกิดการแพร่หลายอย่างรวดเร็ว และยังมีการสั่งให้สถานปรุงยาทุกแห่งวาดภาพต้นสมุนไพร เพื่อทำการรวบรวมและจัดพิมพ์เป็นหนังสือ
     ยุคพัฒนาการแพทย์แผนจีนและเวชปฏิบัติแผนใหม่ในยุคราชวงศ์หมิง ราชวงชิงก่อนสงครามฝิ่น มีการพัฒนาในด้านกายวิภาค สรีรวิทยา และสูตินรีเวช นอกจากนี้ยังพบหุนจำลองจุดฝังเข็ม ในยุคนี้เองการแพทย์แผนจีนได้ประสบความสำเร็จในด้านการต่อกระดูก เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้การแพทย์แผนจีนในยุคนั้นมีโอกาสได้ทำการรักษาร่วมกับการแพทย์แผนตะวันตก
     ยุคปัจจุบัน หลังจากที่การแพทย์แผนตะวันตกได้ก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้มีการต่อต้านการแพทย์แผนจีนเกิดขึ้น และการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญของจีนเองจนทำให้ต้องปิดประเทศก็เป็นผลทำให้ความรู้ด้านการแพทย์แผนจีนหยุดชะงักไป แต่เมื่อจีนเปิดประเทศอีกครั้ง ก็ได้แสดงให้ถึงประสิทธิภาพในการรักษาคนป่วยได้อย่างดีเยี่ยมและเทียบเท่ากับการรักษาของแพทย์แผนตะวันตก จึงได้มีการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมจนเกิดเป็นความรู้ใหม่ๆ มากมาย เช่น การกระตุ้นระบบประสาทโดยใช้ไฟฟ้าควบคู่กับการฝังเข็ม เป็นต้น สำหรับการรักษาของแพทย์จีนจะใช้วิธีการแบบดั้งเดิมโดยไม่ต้องใช้เครื่องมือใดๆ ใช้เพียงนิ้วมือของแพทย์จีนเท่านั้นก็สามารถตรวจวินิจฉัยโรคในเบื้องต้นได้หรือที่เรียกกันว่า "การแมะ หรือการตรวจชีพจร" เป็นวิธีการตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยของแพทย์จีนโบราณที่สำคัญที่สุดวิธีหนึ่ง โดยจะใช้นิ้วมือแตะลงไปบนจุดชีพจรต่างๆ เพื่อตรวจความผิดปกติของอวัยวะและระบบการทำงาน
     จุดเด่นของศาสตร์ด้านการแพทย์แผนจีน นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน์ [2] อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้ให้คำนิยมเอาไว้ตอนหนึ่งว่า “ถึงแม้การแพทย์แผนจีนต้องเผชิญชะตากรรมคล้ายคลึงกับการแพทย์แผนไทย คือ ถูกแรงเบียดจากการแพทย์แผนตะวันตกจนเกือบถูกกำจัดออกไปเมื่อราว 80 ปีมาแล้ว แต่เพราะแพทย์จีนมีพื้นฐานและการผนึกกำลังกันเข้มแข็งพอ" ทำให้ศาสตร์การแพทย์แผนจีนได้มีโอกาสพัฒนาสืบต่อมาไม่ขาดช่วงไปนานอย่างการแพทย์แผนไทย ซึ่งภายหลังการเปิดประเทศแล้วการแพทย์แผนจีนได้มีการแพร่หลายไปอย่างรวดเร็วทั่วทุกภูมิภาคทั่วโลก ทำให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางและได้รับการยอมรับมากขึ้น [3]
     นี้เป็นเพียงแค่ข้อมูลที่มาที่ไปของศาสตร์ด้านการแพทย์แผนจีนที่กระผมได้เคยรวบรวมเอาไว้เป็นภาคนิพนธ์ [4] เรื่อง “การแพทย์แผนจีนในประเทศไทย” เมื่อปี 2551 ซึ่งยังมีข้อมูลน่าสนใจอีกมากมายที่จะขอมานำเสนอในโอกาสถัดไปครับ
     แหล่งอ้างอิง
     1. วิทิต วัณนาวิบูล. ประวัติการแพทย์จีน. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2537.
     2. ภาสกิจ (วิทวัส) วัณนาวิบูล. “แนวคิด: การตรวจวินิจฉัยของศาสตร์แพทย์แผนจีน.” ตำราการแพทย์แผนจีน:การตรวจวินิจฉัย, 1-3. กรุงเทพมหานคร: หมอชาวบ้าน, 2548.
     3. ปวินท์ สุวรรณกุล. “มาเรียนแพทย์แผนจีนกันเถอะ.” จุลสารการแพทย์แผนจีน. 4,1 (2550) : 6-9.        
     4. สุวิชา ธงพานิช. “การแพทย์แผนจีนในประเทศไทย.” ภาคนิพนธ์ประกอบรายวิชา 2206101 การค้นคว้าและการเขียนรายงานเชิงวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2550.
vStudy Team. (เรียบเรียงโดย: สุวิชา ธงพานิช)
Website: vStudyapp.com
Facebook: http://www.facebook.com/vstudyapp
Twitter: @vStudyapp

Tuesday, December 17, 2013

โครงกระดูกมีอะไรมากกว่าที่คิด

2
     เนื่องด้วยกระผมได้มีโอกาสไปเข้าฟังการบรรยายพิเศษเกี่ยวกับการสอนกายวิภาคศาสตร์กับอาจารย์ใหญ่ ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แล้วก็มีประเด็นหนึ่งในหลายๆ ประเด็นที่ผมคิดว่าน่าสนใจมาก ดังเช่นเรื่องที่ผมจะขอมานำเสนอในวันนี้ ซึ่งได้รับเกียรติบรรยายโดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) นายแพทย์สรรใจ แสงวิเชียร ในหัวข้อ “การตรวจวิเคราะห์ โครงกระดูก” ครับ จึงขออนุญาตนำบทบรรยายของท่านมานำเสนอในครั้งนี้ด้วยครับ
     การวิเคราะห์โครงกระดูกหรือกระดูกแต่ละชิ้นนั้น นับว่ามีความสำคัญอย่างมากในการศึกษาทางด้านมานุษยวิทยากายภาพ การศึกษาเชื้อชาติ การศึกษาทางการแพทย์ การศึกษานิติเวชศาสตร์ และการศึกษาโบราณคดี ซึ่งผู้ที่จะทำการวิเคราะห์โครงกระดูกจะต้องมีความรู้ทางกายวิภาคศาสตร์ของกระดูกมนุษย์เป็นอย่างดี รวมถึงต้องมีความรู้เกี่ยวกับกระดูกสัตว์ กายวิภาคศาสตร์เปรียบเทียบและวิวัฒนาการ
     งานการวิเคราะห์โครงกระดูกถูกใช้ในการศึกษามานุษยวิทยากายภาพโดยตรง แต่ก็ยังมีอีกสองสาขาวิชาที่จะต้องวิเคราะห์กระดูกด้วยก็คือ โบราณคดี และนิติเวชศาสตร์ โดยที่นักศึกษาสาขาเหล่านี้จะต้องเรียนเรื่องกระดูกมนุษย์ทุกชิ้น ไม่ว่าจะเป็นชื่อลักษณะจำเพาะ การแยกข้าง ร่องทุกร่อง รูทุกรูในกระดูกทุกชิ้น และจะต้องรู้จักกระดูกสัตว์พอสมควร เพื่อจะได้ใช้ในการแปลผลว่ากระดูกที่พบเป็นของคนหรือไม่
     ในการศึกษา เมื่อได้รับโครงกระดูกหรือชิ้นส่วนกระดูกมาแล้ว จะต้องทำการศึกษาและตอบปัญหาต่างๆ ให้ครบถ้วนตามลำดับ ดังนี้
     1. กระดูกเหล่านั้นเป็นกระดูกแท้ใช่หรือไม่
     2. กระดูกเหล่านั้นชิ้นใดเป็นกระดูกคนชิ้นใดเป็นกระดูกสัตว์ ต้องแยกจากกัน สำหรับนิติเวช กระดูกสัตว์อาจไม่สำคัญนัก ยกเว้นสัตว์ที่จะเป็นต้นเหตุการณ์ตาย สำหรับโบราณคดี ต้องศึกษาร่วมกับผู้รู้ทางสัตววิทยา ต้องตอบเรื่องสัตว์ที่เป็นอาหาร สัตว์ที่ใช้งาน ฯลฯ
     3. กระดูกคนที่ได้เป็นกระดูกคนปัจจุบันหรือกระดูกคนโบราณซึ่งอาจต้องศึกษาทางด้านอื่นๆ อีก เช่น การหาอายุโดยใช้วิธีการทางฟิสิกส์
     4. กระดูกคนที่ได้มานั้นมีกี่ชิ้น อะไรบ้าง
     5. กระดูกคนนั้นเป็นของคนกี่คน
     6. พิจารณาสภาพของกระดูกแต่ละคนว่าเป็นอย่างไร เก่า ใหม่ แห้ง เปราะ กลายเป็นฟอสซิล ฯลฯ ซึ่งขั้นตอนนี้จะต้องใช้ทั้งความรู้กายวิภาค ความอดทน และความละเอียดในการทำงาน
     7. กระดูกกองนั้นเป็นเพศชายหรือหญิง โดยใช้การศึกษาตามวิธีของ Krogman “Human Skeleton in Forensic Medicine” ที่ใช้เชิงกราน กะโหลก และกระดูกยาว
     8. เจ้าของกระดูกนั้นสูงประมาณเท่าไร วัดกระดูกยาวโดย Ostreometric Board แล้วคำนวณโดยสมการถดถอยที่เป็นสูตรของคนไทย
     9. อายุประมาณเท่าไร
     10. เชื้อชาติอะไร ซึ่งจะต้องศึกษาโดยการวัดตามวิธีมาตรฐาน และต้องมีเครื่องมือมาตรฐาน
     11. ศึกษาลักษณะจำเพาะของฟัน ลักษณะ รูปร่าง ความผิดปกติ ร่องรอยการสึก การผุ การทำฟัน การตบแต่งฟันแบบต่างๆ
     12. บันทึกลักษณะของความพิการแต่กำเนิดของโครงกระดูก หรือการกระทำให้เกิดความพิการ
     13. บันทึกร่องรอยของพยาธิสภาพที่ปรากฏในกระดูกหรือฟัน
     14. บันทึกร่องรอยที่กระดูก ที่เกิดขึ้นโดยคนทำ จากวัฒนธรรม และความเชื่อ เช่น การแต่งฟัน การทำกะโหลกให้ผิดรูป ฯลฯ
     15. ร่องรอยการทำลายของกระดูกโดยสัตว์และแมลง เช่น รอยที่ถูกเม่นแทะ หรือปลวกกิน
     16. บันทึกร่องรอยทางนิติเวชศาสตร์ เช่น ร่องรอยการถูกทำร้าย และร่องรอยการทำลายศพ
     ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานเรื่องโครงกระดูกควรจะต้องหาความรู้หลายๆ วิชาให้กว้างขวาง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการทำงานมาก
vStudy Team. (เรียบเรียงโดย: สุวิชา ธงพานิช)
Website: vStudyapp.com
Facebook: http://www.facebook.com/vstudyapp
Twitter: @vStudyapp

Friday, December 13, 2013

เรื่องเพศ: ชายหรือหญิง อะไรที่แตกต่าง?

 2
     สืบเนื่องจากบทความก่อนหน้านี่ที่ผมนำเสนอเกี่ยวกับการกำหนดเพศหญิง-ชาย ไปนะครับ วันนี้ผมเลยจะขอมานำเสนอเกี่ยวกับความเป็นชายและหญิงในมุมมองของวิทยาศาสตร์ว่าแตกต่างกันอย่างไร โดยหลังจากที่เกิดการปฏิสนธิแล้วตัวอ่อนในครรภ์ก็จะเริ่มเข้าสู่กระบวนการเจริญและพัฒนาระบบอวัยวะต่างๆ จนสมบูรณ์พร้อมที่จะออกมาสู่โลกภายนอกครับ โดยในตอนที่เราเป็นเด็กๆ ด.ช. และ ด.ญ. นั่นลักษณะทางกายภาพแทบจะไม่มีความแตกต่างกันเท่าไรยกเว้นที่บริเวณน้องชาย/น้องสาว (อวัยวะเพศ) ที่ต่างกัน แต่เมื่อเราเริ่มโตขึ้นลักษณะของแต่ละเพศก็จะเริ่มแสดงออกมากขึ้นๆ จนทำให้ลักษณะทางกายภาพแตกต่างกันค่อนข้างชัดเจน ซึ่งสามารถแบ่งการพัฒนาลักษณะของแต่ละเพศออกเป็น 2 ช่วงระยะ คือ ลักษณะเพศขั้นที่หนึ่ง และลักษณะเพศขั้นที่สอง และในวันนี้จะขอนำเสนอ "ลักษณะขั้นที่หนึ่ง" ของแต่ละเพศกันก่อนครับ
     ตั้งแต่เกิดจนถึงช่วงวัยเด็กตอนปลาย ลักษณะที่ใช้บ่งบอกเพศได้ชัดเจนที่สุดก็คืออวัยวะเพศ ซึ่งต่างก็มีชื่อเรียกกันไปต่างๆ นานาตามแต่ละท้องที่ แต่ต่างก็สื่อถึงสิ่งเดียวกันนั่นก็คือน้องชายและน้องสาวของแต่ละคนนั้นเอง (ดังภาพครับ) ซึ่งจากภาพจะเห็นว่าลักษณะความแตกต่างภายนอกและภายในของอวัยวะเพศชายและหญิงนั่นแตกต่างกันอย่างชัดเจน แต่ในช่วงการเจริญนั้นต่างก็มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน
1
     ขอบคุณภาพจาก: Anatomical Images by A.D.A.M. Software, Inc.
vStudy Team. (เรียบเรียงโดย: สุวิชา ธงพานิช)
Website: vStudyapp.com
Facebook: http://www.facebook.com/vstudyapp
Twitter: @vStudyapp

เรื่องเพศ: ชายหรือหญิง แท้จริงใครกำหนด?

 2
     มนุษย์เราทุกคนเกิดมาล้วนแต่มีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน แต่ในความเท่าเทียมนั้นพวกเราต่างก็รู้กันดีว่ามีสิ่งหนึ่งที่แบ่งมนุษย์เราออกเป็น 2 นั่นก็คือ “เพศ” หรือเครื่องบ่งบอกลักษณะ ที่ทำให้มนุษย์เพศชายและเพศหญิงเกิดความแตกต่างกันทางกายวิภาคและสรีรวิทยา ซึ่งเป็นผลนำไปสู่ความแตกต่างกันทางด้านนิสัย อารมณ์ ความคิด พละกำลัง ฯลฯ รวมไปถึงสิทธิต่างๆ ทางสังคม (ในอดีต) แต่สำหรับในปัจจุบันนั้นคำว่า "เพศ" ไม่ได้เป็นเครื่องบ่งบอกถึงความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมอีกต่อไปแล้ว เมื่อทั้งหญิงและชายต่างก็มีสิทธิเสรีภาพภายในกฎหมายที่เท่าเทียมกัน ดังนั้นในวันนี้ผมเลยจะขอมานำเสนอความแตกต่างของชาย-หญิง ในมุมมองทางวิทยาศาสตร์ง่ายๆ กันนะครับ
     เพศของเราทุกคนนั้นได้ถูกกำหนดเอาไว้ตั้งแต่ครั้งเริ่มแรกของการกำเนิดชีวิต นั่นก็คือในช่วงเวลาที่อสุจิจากพ่อเพียงตัวเดียวเจาะเข้าไปในไข่ของแม่แล้วเกิดการปฏิสนธิกันขึ้น จนได้เป็นเซลล์สิ่งมีชีวิตใหม่ที่เจริญเติบโตขึ้นอยู่ภายในครรภ์ของแม่ ซึ่งสิ่งที่เป็นตัวกำหนดเพศของเรานั้นก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับแม่ (ไข่) แต่อย่างใด หากแต่ขึ้นอยู่กับพ่อ (อสุจิ) โดยตรง เนื่องจากโครโมโซมเพศ (X หรือ Y) ที่เป็นตัวกำหนดเพศนั้น จะเกิดจากการแบ่งเซลล์แบบไมโอซิสของพ่อและแม่เพื่อให้ได้เซลล์สืบพันธุ์ ดังนั้นในเซลล์ของแม่ซึ่งมีโครโมโซมเป็น XX เมื่อแบ่งเซลล์แล้วจึงได้เซลล์สืบพันธุ์ (ไข่) ที่มีโครโมโซมเป็น X เสมอ ในขณะที่พ่อซึ่งมีโครโมโซมเป็น XY ดังนั้นเมื่อแบ่งเซลล์จึงได้เซลล์สืบพันธุ์ (ตัวอสุจิ) ที่มีทั้งที่เป็นโครโมโซม X และตัวที่เป็นโครโมโซม Y อย่างละครึ่ง ดังนั่นโอกาสจะได้ลูกชายจึงมาจากโครโมโซม Y ของพ่อเท่านั้น
     จากคำอธิบายข้างต้น จึงบอกได้เลยว่าการที่จะได้ลูกชายหรือลูกสาวนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับแม่แต่อย่างใด แต่ขึ้นอยู่กับพ่อล้วนๆ ดังแผนภาพด้านล่างเลยครับ แต่นี่ก็เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของชาย-หญิงเท่านั้น ยังมีสิ่งน่าสนใจอีกมากมายเกี่ยวกับเพศ ซึ่งผมจะนำมาเสนอในโอกาสต่อไปครับ
1
vStudy Team. (เรียบเรียงโดย: สุวิชา ธงพานิช)
Website: vStudyapp.com
Facebook: http://www.facebook.com/vstudyapp
Twitter: @vStudyapp

Thursday, December 12, 2013

วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต

 2
     จากสิ่งมีชีวิตหนึ่ง เกิดการเปลี่ยนแปลงจนนำไปสู่สิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่ง เราต่างทราบกันดีว่าเป็นวิวัฒนาการ ซึ่งกลไกในการเกิดวิวัฒนาการแบ่งได้ 2 กลไก คือ
     1. การคัดเลือกโดยธรรมชาติ (natural selection) อันเป็นกระบวนการคัดเลือกสิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะเหมาะสมที่จะอยู่รอด และสืบพันธุ์จนได้ลักษณะที่เหมาะสมที่สุด และลักษณะที่ไม่เหมาะสมจะเหลือน้อยลง กลไกนี้เกิดขึ้นเพื่อคัดเลือกลักษณะของประชากรที่เกิดประโยชน์ในการสืบพันธุ์สูงสุดเมื่อสิ่งมีชีวิตหลายรุ่นได้ผ่านพ้นไป ก็จะเกิดกระบวนการปรับตัวของสิ่งมีชีวิตเพื่อให้อยู่ในสิ่งแวดล้อมได้อย่างเหมาะสม
     2. การแปรผันทางพันธุกรรม (genetic drift) อันเป็นกระบวนการอิสระจากการคัดเลือกความถี่ของยีนประชากรแบบสุ่ม การแปรผันทางพันธุกรรมเป็นผลมาจากการอยู่รอดและการสืบพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต แม้ว่าการแปรผันทางพันธุกรรมในแต่ละรุ่นนั้นจะเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย แต่ลักษณะเหล่านี้จะสะสมจากรุ่นสู่รุ่น เกิดการเปลี่ยนแปลงทีละเล็กละน้อยในสิ่งมีชีวิต จนกระทั่งเวลาผ่านไปเป็นระยะเวลานาน จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในลักษณะของสิ่งมีชีวิต กระบวนการดังกล่าวเมื่อถึงจุดสูงสุดจะทำให้กำเนิดสปีชีส์ชนิดใหม่ แม้กระนั้นความคล้ายคลึงกันระหว่างสิ่งมีชีวิตมีข้อเสนอที่เป็นที่รู้จักกันดีคือการสืบเชื้อสายจากบรรพบุรุษ หรือยีนพูลของบรรพบุรุษ เมื่อผ่านกระบวนการนี้จะก่อให้เกิดความหลากหลายมากขึ้นทีละเล็กละน้อย
1
     ขอบคุณภาพจาก: Campbell Biology, 9th ed.
vStudy Team. (เรียบเรียงโดย: สุวิชา ธงพานิช)
Website: vStudyapp.com
Facebook: http://www.facebook.com/vstudyapp
Twitter: @vStudyapp

การเคลื่อนไหวของพืช

 2
     การตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมของพืชนั้น มักจะเกิดจากการเจริญเติบโตและการเปลี่ยนแปลงแรงดันในเนื้อเยื่อพืช โดยการเคลื่อนไหวของพืชนั้นจะเกิดจากสิ่งเร้าทั้งภายนอกและภายใน ซึ่งแบ่งออกเป็น
     1. การเคลื่อนไหวที่มีทิศทางสัมพันธ์กับทิศทางของสิ่งเร้า (tropic movement) เช่น แสง แรงโน้มถ่วงของโลก สารเคมี น้ำหรือความชื้น และอุณหภูมิ เป็นต้น โดยพบว่าปลายยอดของพืชจะเคลื่อนที่เข้าหาแสง ในขณะที่ปลายรากจะเคลื่อนที่หนีจากแสง ทั้งนี้เนื่องจากการทำหน้าที่ของฮอร์โมนออกซิน (auxin) และลำต้นของพืชจะมีทิศทางการเติบโตที่ต้านแรงโน้มถ่วงของโลก ในขณะที่รากจะเคลื่อนที่ไปในทางเดียวกันกับแรงโน้มถ่วงของโลก ก็เนื่องมาจากการทำหน้าที่ของฮอร์โมนออกซินเช่นเดียวกัน
     2. การเคลื่อนไหวของพืชโดยมีทิศทางไม่สัมพันธ์กับทิศทางของสิ่งเร้า (nastic movement) เป็นการตอบสนองที่เกิดจากสิ่งเร้าเดียวกัน ปริมาณเท่ากัน แต่พืชตอบสนองได้ไม่เท่ากัน ซึ่งจะขึ้นอยู่กับบริเวณที่ได้รับสิ่งเร้าและชนิดของพืชด้วย เช่น การบาน-หุบ ของดอกไม้
     3. การเคลื่อนไหวที่เกิดจากความเต่งของเนื้อเยื่อ (turgor movement) เช่น การหุบและกางใบของไมยราบ การหุบใบตอนพลบค่ำของต้นก้ามปู จามจุรี มะขาม และพืชตระกูลถั่ว รวมถึงการเปิด-ปิด ของปากใบด้วย
1
     ขอบคุณภาพจาก: Campbell Biology, 9th ed.
vStudy Team. (เรียบเรียงโดย: สุวิชา ธงพานิช)
Website: vStudyapp.com
Facebook: http://www.facebook.com/vstudyapp
Twitter: @vStudyapp

Wednesday, December 4, 2013

เพื่อนร่วมโลกของเรา หายใจกันอย่างไรบ้าง?

2
     ในทุกๆ ช่วงเวลาของชีวิตเรา มีอยู่สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาทั้งที่เรารู้ตัวและไม่รู้ตัว นั่นก็คือการหายใจ เพราะการหายใจนั้นเป็นกระบวนการสำคัญยิ่งของสิ่งมีชีวิตที่จะนำเอาสารตั้งต้นของกระบวนการต่างๆ ภายในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตเข้าสู่ร่างกาย ดังนั้นไม่ใช่แค่ในมนุษย์เท่านั้นที่ต้องหายใจ แต่สิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆทุกชนิดล้วนแต่ต้องหายใจด้วยกันทั้งสิ้น วันนี้ผมจะขอนำเสนอตัวอย่างรูปแบบของระบบการหายใจของสิ่งมีชีวิตบางกลุ่ม ตามนี้เลยครับ
     ระบบท่อลม (tracheal system) เป็นระบบการแลกเปลี่ยนก๊าซในแมลง โดยจะประกอบไปด้วยรูเปิดที่บริเวณส่วนนอกและส่วนท้อง (spiracle) ท่อลม (trachea) และท่อลมย่อย (tracheole) โดยจะแทรกกระจายเข้าสู่ทุกส่วนของลำตัวแมลง เพื่อทำหน้าที่ในการแลกเปลี่ยนก๊าซ โดยเมื่ออากาศผ่านเข้ารูปเปิดไปยังท่อลม และท่อลมย่อยแล้วที่ปลายของท่อลมย่อยจะมีของเหลวบรรจุอยู่ ช่วยให้ออกซิเจนละลายได้ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนก๊าซได้ดี และเนื้อเยื่อก็จะได้รับก๊าซออกซิเจนจากท่อลมโดยตรงได้เลย
     ระบบผิวหนังที่ช่วยในการแลกเปลี่ยนก๊าซ จะพบได้ในพวกสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก เช่น กบตัวเต็มวัย โดยที่ผิวหนังของกบจะมีหลอดเลือดมาเลี้ยงจำนวนมาก ทำให้สามารถแลกเปลี่ยนก๊าซได้เป็นอย่างดีทั้งบนบกและในน้ำ โดยในขณะที่จำศีล กบจะใช้ผิวหนังที่ชุ่มชื้นอยู่ตลอดช่วยในการหายใจโดยการแลกเปลี่ยนก๊าซระหว่างผิวหนังกับอากาศรอบๆ ตัว เพื่อนำก๊าซออกซิเจนผ่านหลอดเลือดที่ผิวหนัง ไปเลี้ยงยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย
     เหงือก (gill) เป็นโครงสร้างที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนก๊าซของสัตว์ที่ดำรงชีวิตอยู่ในน้ำ เช่น ปลา โดยเหงือกของปลาจะมีลักษณะเป็นแผงๆ (gill arch) ซึ่งเป็นกระดูกอ่อน ด้านในมีลักษณะเป็นซี่ๆ เพื่อป้องกันอนุภาคขนาดใหญ่และอาหาร ไม่ให้เข้าออกได้ นอกจากนี้แต่ระแผงของเหงือกจะมีส่วนที่ยื่นนูนออกมาเป็นแขนงเรียกว่า gill filament และ gill lamella ซึ่งจะมีแขนงของหลอดเลือดมาสัมพันธ์ ทำให้ออกซิเจนในน้ำสามารถแพร่เข้าสู่หลอดเลือดได้อย่างพอเพียง ในขณะเดียวกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก็สามารถแพร่ออกจากหลอดเลือดไปสู่น้ำรอบๆ ได้เป็นอย่างดีเช่นกัน
     ปอด (lung) เป็นโครงสร้างที่ใช้ในการหายใจ พบได้ตั้งแต่สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์ปีก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนำนม รวมถึงคนด้วย เป็นโครงสร้างที่เริ่มมีความซับซ้อนและเป็นระบบมากขึ้น โดยออกซิเจนจะผ่านทางเดินหายใจเข้าสู่ปอด และถุงลมปอด เพื่อไปแลกเปลี่ยนที่ผนังของถุงลมกับหลอดเลือดฝอยที่มาสัมพันธ์ ก่อนจะถูกขนส่งผ่านหลอดเลือดไปยังเนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกาย
1
vStudy Team. (เรียบเรียงโดย: สุวิชา ธงพานิช)
Website: vStudyapp.com
Facebook: http://www.facebook.com/vstudyapp
Twitter: @vStudyapp