Sunday, December 22, 2013

แนะนำสาขาวิชา : การแพทย์แผนจีน ตอนที่ 2

2
     ต่อเนื่องจากบทความที่แล้วนะครับที่ได้นำเสนอไปถึงประเด็นที่ว่า ครั้งที่ประเทศจีนปิดประเทศนั้น ความรู้ทางด้านการแพทย์แผนจีนก็หยุดชะงักลงไปหลายปี จนเมื่อจีนเปิดประเทศอีกครั้งความรู้ทางด้านการแพทย์แผนจีนจึงได้แพร่หลายออกไปสู่ภูมิภาคต่างๆทั่วโลกอีกครั้ง จนได้รับการยอมรับจากประเทศในแถบตะวันตก และองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกมาประกาศยอมรับศาสตร์การแพทย์แผนจีน
     สำหรับประเทศไทยได้มีการลงนามความร่วมมือทางด้านการแพทย์และสุขภาพในด้านต่างๆกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ในปี พ.ศ.2540 โดยนายมนตรี พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น ต่อมาในปี พ.ศ.2543 นายกร ทัพรังสี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้นได้ทำบันทึกข้อตกลงกับสาธารณรัฐประชาชนจีน คือบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการจัดตั้งศูนย์การแพทย์ไทย - จีน [1] ทำให้ศาสตร์การแพทย์แผนจีนเข้ามามีบทบาทในประเทศไทยมากขึ้นในขณะนี้ประเทศไทยมีแพทย์จีนกว่า 200 คน ที่ได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุขตามกฎหมายว่าด้วยการแพทย์ทางเลือก ปัจจุบันครอบคลุมถึงแพทย์จีนที่เดินทางเข้ามาในไทยด้วย เมื่อได้รับใบอนุญาตแล้วจะอนุญาตให้บุคคลที่ประกอบโรคศิลปะ ศาสตร์การแพทย์แผนจีนสามารถดำเนินกิจกรรมรักษาโรคได้
     ปัจจุบันพบหลักฐานจำนวนมากที่ยืนยันประสิทธิภาพทางการรักษาของการแพทย์แผนจีนมากมาย โดยเฉพาะวิชาฝังเข็ม และสมุนไพร และจากหลักฐานความเป็นมาอันยาวนานของศาสตร์การแพทย์แผนจีน ได้มีการค้นพบ ตำราพระโอสถพระนารายณ์ (ตำที่รวบรวมข้อมูลยาในราชสำนักของไทย ประกอบด้วยตำรับยาล้านนา ยุโรป ไทย และจีน) ที่เชื่อกันว่าเป็นตำราแพทย์สมัยอยุธยา ได้บันทึกตำรับยาขนานที่ 11 ระบุว่าหมอจีนเป็นผู้ปรุงยาถวาย ถือเป็นหลักฐานที่แสดงว่าการแพทย์แผนจีนนั้น ได้เข้ามาสู่เมืองไทยตั้งแต่อยุธยาจากการเข้ามาตั้งรกรากของแพทย์จีน[1] แต่ยังไม่เป็นที่ยอมรับ และสืบทอดต่อมาจนในปัจจุบันการแพทย์แผนจีนในประเทศไทยได้รับการยอมรับอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีการจัดไว้เป็นหนึ่งในศาสตร์การแพทย์ทางเลือก ที่รับรองโดยกระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทย ถือได้ว่าเป็นศาสตร์ทางการแพทย์อีกหนึ่งทางเลือกที่มีความสำคัญมากขึ้นทุกวัน เนื่องจากวิธีการหรือขั้นตอนในการตรวจรักษานั้นไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ใดๆ ช่วยเหมือนแพทย์แผนปัจจุบัน จึงทำให้เสียค่าใช้จ่ายในการรักษาน้อยกว่าแพทย์แผนปัจจุบัน และช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดจากอุปกรณ์ชำรุดเสียหายทำให้ในปัจจุบันคนส่วนใหญ่เริ่มหันมารักษากับแพทย์จีนกันมากขึ้น
     แต่อย่างไรก็ตามการแพทย์แผนจีนยังไม่สามารถที่จะรักษาโรคได้ทุกโรค แต่ก็สามารถรักษาโรคบางโรคที่แพทย์แผนปัจจุบันรักษาให้หายขาดไม่ได้ ดังคำให้สัมภาษณ์ของอาจารย์ปวินท์สุวรรณกุล [2] ผู้ช่วยคณบดีคณะการแพทย์แผนจีนมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ที่ว่า
     ...แพทย์แผนปัจจุบันมุ่งรักษาโรค แต่การแพทย์แผนจีนมุ่งรักษาคน อย่างไรก็ตาม แพทย์แผนจีนไม่ได้รักษาได้ทุกโรค ต้องให้ความระมัดระวัง แพทย์จีนส่วนใหญ่ในประเทศจีนตอนนี้ก็มีการผสมผสานการแพทย์แผนปัจจุบันด้วย คิดว่า ทั้งสองอย่างต้องใช้อย่างควบคู่กัน ผสมผสานกัน เช่นการตรวจอาการเบื้องต้นบางอย่าง เช่น การตรวจหาการตั้งครรภ์ หากใช้วิธีแมะก็ประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่าการไปตรวจด้วยเครื่องมือแพทย์ในโรงพยาบาล เป็นต้น
     หากประเทศไทยช่วยสงเสริมและให้สิทธิทางการรักษาแก่แพทย์จีนที่จบจากสถาบันในประเทศไทยอย่างเสรีภายใต้ขอบเขตของกฎหมายแล้ว การเข้าถึงการรักษาของผู้คนในชุมชนที่ห่างไกลก็จะมีโอกาสมากขึ้น เนื่องจากแพทย์จีนสามารถเข้าถึงประชาชนได้ทุกภูมิภาคโดยที่การรักษาไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีใด ๆ ใช้เพียงความรู้และความชำนาญของแพทย์เท่านั้น จึงทำให้เหมาะสมกับสภาพสังคมในชนบทของประเทศไทยมากกว่าการแพทย์แผนปัจจุบัน แม้แต่ในสังคมเมืองการแพทย์แผนจีนก็ยังเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ป่วยเช่นกัน เพราะในการรักษาโรคบางชนิดการแพทย์แผนปัจจุบันอาจใช้วิธีการรักษาโดยอาศัยสารรังสีในการรักษาทำให้เกิดการตกค้างของสารเหล่านั้นได้ ถ้าสะสมเป็นเวลานานก็จะทำให้ร่างกายผิดปกติได้ ดังนั้นการแพทย์แผนจีนจึงสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการตกค้างของสารในร่างกายของผู้ป่วยได้ ประกอบกับสังคมในปัจจุบันเป็นสังคมที่ต้องแข่งขันทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ใช้เวลาเกือบทั้งวันให้กับการทำงานจนละเลยความเจ็บป่วย เพราะการไปพบแพทย์เผื่อตรวจวินิจฉัยโรคตามโรงพยาบาลนั้นจะต้องเสียเวลาในการตรวจเกือบทั้งวันจึงทำให้เกิดความคิดว่าเป็นการเสียเวลาจึงใช้การซื้อยารับประทานเอง แต่หากแพทย์จีนในประเทศไทยมีการยอมรับมากขึ้นและสามารถร่วมรักษากับการแพทย์แผนปัจจุบันได้ก็จะทำให้การตรวจโรคนั้นไม่ได้เป็นการเสียเวลาอีกต่อไป ขอเพียงมีการจัดการที่ดีพอสำหรับการรักษาและการตรวจวินิจฉัยร่วมกันของแพทย์
     ประเทศไทยในปัจจุบันมีแพทย์จีนที่ได้ขึ้นทะเบียนและมีใบประกอบโรคศิลปะจากกระทรวงสาธารณสุขอยู่ 216 คนทั่วประเทศ [1] โดยที่ส่วนใหญ่แล้วเป็นแพทย์จีนที่มาจากสาธารณรัฐประชาชนจีนและได้รับการถ่ายทอดความรู้จากบรรพบุรุษซึ่งแต่ละคนก็จะมีความชำนาญที่แตกต่างกันออกไปและมาตรฐานการรักษาของแพทย์แผนจีนก็ยังไม่มีความชัดเจน
     ปัจจุบันจึงได้มีเปิดสอนหลักสูตรการแพทย์แผนจีนในระดับปริญญาขึ้นโดยที่มีกระทรวง ศึกษาธิการรับรอง และบัณฑิตที่ศึกษาจบสาขาการแพทย์แพทย์จีนก็จะสามารถสอบขอรับใบประกอบโรคศิลปะจากกระทรวงสาธารณสุขได้ แต่ในขณะนี้ยังไม่มีการรับรองให้แพทย์จีนเปิดคลินิกส่วนตัวได้เต็มที่เนื่องจากยังไม่มีมาตรฐานในการรักษาของแพทย์จีนประกอบกับในขณะนี้ยังไม่มีบัณฑิตของประเทศไทยที่จบการศึกษาในหลักสูตรการแพทย์แผนจีน แต่หากในอนาคตบัณฑิตแพทย์จีนของประเทศไทยได้แสดงความสามารถในการรักษาคนไข้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีมาตรฐานเดียวกัน ก็คงจะมีการรับรองให้แพทย์จีนของไทยสามารถเปิดคลินิกอิสระส่วนตัวได้เหมือนกับแพทย์แผนปัจจุบันดังนั้นประเทศไทยจึงต้องการแพทย์จีนที่เป็นบัณฑิตไทยจำนวนมากเพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับคนไทย ในการดูแลรักษาสุขภาพ ดังที่จะกล่าวถึงสถาบันที่เปิดสอนในหลักสูตรการแพทย์แผนจีนในประเทศไทย ในบทความต่อไปนะครับ[3]
     แหล่งอ้างอิง
     1. ปวินท์ สุวรรณกุล. “มาเรียนแพทย์แผนจีนกันเถอะ.”  จุลสารการแพทย์แผนจีน. 4,1 (2550) : 6-9.
     2. ปวินท์ สุวรรณกุล. ผู้ช่วยคณบดีคณะการแพทย์แผนจีน มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ. สัมภาษณ์, 7 เมษายน 2551.
     3. สุวิชา ธงพานิช. “การแพทย์แผนจีนในประเทศไทย.” ภาคนิพนธ์ประกอบรายวิชา 2206101 การค้นคว้าและการเขียนรายงานเชิงวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2550.
vStudy Team. (เรียบเรียงโดย: สุวิชา ธงพานิช)
Website: vStudyapp.com
Facebook: http://www.facebook.com/vstudyapp
Twitter: @vStudyapp

No comments:

Post a Comment