Monday, December 23, 2013

แนะนำสาขาวิชา : การแพทย์แผนจีน ตอนที่ 3

2
     มหาวิทยาลัยในประเทศไทยหลายแห่งได้ทำการเปิดหลักสูตรปริญญาตรีสาขาการแพทย์แผนจีน เพื่อผลิตบัณฑิตแพทย์จีนที่มีคุณภาพโดยได้รับความร่วมมือและความช่วยเหลือจากมหาวิทยาลัยในสาธารณรัฐประชาชนจีน เช่น การสอนภาษาจีน วิชาการแพทย์จีน เภสัชจีน การฝึกงานเป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการเปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรเฉพาะด้าน ในระดับประกาศนียบัตรบัณฑิตสำหรับแพทย์แผนปัจจุบันเพื่อเป็นการเปิดมุมมองและสร้างทัศนะคติที่ดีให้แก่แพทย์แผนปัจจุบันให้เข้าใจการแพทย์แผนจีนมากขึ้น [1] การที่นักศึกษาแพทย์จีนของประเทศไทยได้มีโอกาสรับความรู้จากสาธารณรัฐประชาชนจีน นับว่าเป็นการดีสำหรับประเทศไทย และประเทศไทยควรจะต้องรักษาความร่วมมือกับจีนเอาไว้ให้ยาวนานที่สุดเพื่อการพัฒนาทางด้านการแพทย์แผนจีนของไทย
     ขณะนี้ประเทศไทยมีแพทย์จีนอยู่ทั่วประเทศ แต่ก็เป็นจำนวนน้อยมากและส่วนใหญ่ก็จะเป็นแพทย์จีนจากเมืองจีนที่อาศัยความความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดมาในการรักษาผู้ป่วย ดังนั้นประเทศไทยจึงต้องการ แพทย์จีนที่มีความรู้ที่เป็นมาตรฐานและได้รับการยอมรับจากกระทรวงสาธารณสุข ทำให้กระทรวง ศึกษาธิการได้มีการรับรองหลักสูตรด้านการแพทย์แผนจีนในมหาวิทยาลัยของประเทศไทย ในการผลิตบัณฑิตแพทย์จีน นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรในระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต และหลักสูตรเฉพาะทางที่เปิดสอนด้านการแพทย์แผนจีนให้แก่นักศึกษาไทย ดังนี้
     1 หลักสูตรระดับปริญญาบัณฑิต 
     หลักสูตรในระดับปริญญาบัณฑิต เป็นหลักสูตรที่เปิดสอนในระดับปริญญาตรี เมื่อศึกษาจบหลักสูตรแล้วจะสามารถสอบรับใบประกอบโรคศิลปะทางการแพทย์แผนจีนได้ และจะได้รับการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุข หลักสูตรในระดับปริญญาบัณฑิต สาขาการแพทย์แผนจีนในประเทศไทย ได้แก่
     1.1 หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.) สาขาการแพทย์แผนจีน เป็นหลักสูตรที่เปิดสอนการแพทย์แผนจีนแห่งแรกในประเทศไทย โดยคณะการแพทย์แผนจีน มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ เป็นหลักสูตร 5 ปี(สำหรับผู้ที่มีพื้นฐานทางภาษาจีน) และมีการจัดการศึกษาด้านพื้นฐานทางภาษาจีนเป็นเวลา 1 ปีให้กับนักศึกษาที่ไม่มีความรู้ทางภาษาจีน โดยได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยการแพทย์แผนจีนเซี่ยงไฮ้ (Shanghai University of Traditional Chinese Medicine) โดยมีการทำสัญญาหลักสูตรร่วมระหว่างทั้งสองมหาวิทยาลัย ดังนั้นนักศึกษาที่จบหลักสูตรจะได้รับปริญญาร่วมสองสถาบัน ได้รับการยอมรับทั้งจากประเทศไทยและสาธารณะรัฐประชาชนจีน และมีสิทธิในการสอบใบประกอบโรคศิลปะ
     ผู้ที่จะเข้าศึกษาในหลักสูตรนี้ได้จะต้องจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายแผนการเรียนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ หรือเทียบเท่า สำหรับผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีแล้วสามารถเทียบโอนหน่วยกิจในรายวิชาที่ฃศึกษามาแล้วได้ตามระเบียบของมหาวิทยาลัย สำหรับการศึกษาหลักสูตรนี้ จะต้องศึกษาในรายวิชาหมวดต่าง ๆ ให้ครบและสอบวัดระดับความรู้ทางภาษาจีน (HSK) ได้ถึงระดับ 6 [2] และจะต้องศึกษารายวิชาต่าง ๆ ไม่ต่ำกว่า 182 หน่วยกิจ สำหรับชั้นปีสุดท้ายก่อนจะจบการศึกษาจะมีการฝึกงานทางคลินิก ช่วงแรกจะทำการฝึกงาน ณ โรงพยาบาลหัวเฉียวและโรงพยาบาลอื่นๆในประเทศไทย และช่วงที่สองจะทำการฝึกงาน ณ โรงพยาบาลการแพทย์แผนจีนเซี่ยงไฮ้ในสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยจะใช้เวลาช่วงละ 6 เดือน
     1.2 หลักสูตรการแพทย์แผนจีนบัณฑิต (พจ.บ.) สาขาการแพทย์แผนจีน ทำการสอนโดย วิทยาลัยการแพทย์ทางเลือก มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม เป็นหลักสูตร 5 ปี และมีการจัดการศึกษาด้านพื้นฐานทางภาษาจีนระยะเวลา 1 ปีให้กับนักศึกษาที่ไม่มีความรู้ทางภาษาจีน เป็นหลักสูตรที่ได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเซียะเหมิน (Xiamen University) ดังนั้นนักศึกษาที่จบจากหลักสูตรนี้จะได้รับปริญญาร่วมทั้งสองสถาบัน และจะได้รับการยอมรับทั้งจากประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน
     ผู้ที่จะเข้าศึกษาในหลักสูตรนี้จะต้องมีคุณสมบัติ จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือเทียบเท่าโดยไม่จำกัดแผนการเรียนและสามารถเทียบโอนหน่วยกิจได้สำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาเป็นปริญญาใบที่สอง มีหน่วยกิจรวมตลอดหลักสูตร 194 หน่วยกิจเนื้อหารายวิชาที่ศึกษานั้นจะต่างจากคณะการแพทย์แผนจีน มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ บ้างเล็กน้อยโดยที่ในหมวดวิชาพื้นฐานวิชาชีพและวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะไม่เน้นการศึกษาในด้านวิทยาศาสตร์มากนักเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสูตรของมหาวิทยาลัยเซียะเหมิน ซึ่งเน้นการศึกษาการแพทย์แผนจีนโดยอาศัยหลักการทางแพทย์แผนจีนโบราณ ไม่เน้นการอธิบายทางด้านวิทยาศาสตร์ แต่สำหรับวิชาเฉพาะด้านการแพทย์แผนจีนนั้นจะมีบางรายวิชาที่เพิ่มเติมขึ้นมาเช่น ศัลยศาสตร์แพทย์จีน(ในประเทศไทยไม่สามารถใช้รักษาได้ตามกฎหมาย) และศาสตร์หูคอจมูก เป็นต้น[3] ในการศึกษาวิชาแพทย์แผนจีนของมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม จะมีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเซียะเหมินเป็นผู้สอน ดังนั้นการศึกษาภาษาจีนจึงมีความจำเป็นมากเช่นกัน แต่สำหรับหลักสูตรแพทย์แผนจีนบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม จะมีการกำหนดระดับของการสอบวัดระดับภาษาจีนเพียงระดับ 4 เท่านั้นตามข้อตกลงกับมหาวิทยาลัยเซียะเหมิน
     1.3 หลักสูตรการแพทย์แผนจีนบัณฑิต (พจ.บ.) สาขาการแพทย์แผนจีน ทำการสอนโดย วิทยาลัยการแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือกมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เป็นหลักสูตร 5 ปี(สำหรับผู้ที่มีพื้นฐานทางภาษาจีน เป็นหลักสูตรที่ได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยแพทย์จีนหยุนหนาน(Yunnan University of Traditional Chinese Medicine) โดยในปี 1-4 จะทำการศึกษา ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย และในปีที่ 5 จะทำงานศึกษา ณ มหาวิทยาลัยแพทย์จีนหยุนหนาน รวมทั้งการฝึกงานด้วยผู้ที่จะเข้าศึกษาในหลักสูตรนี้จะต้องมีคุณสมบัติ จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือเทียบเท่าโดยจะต้องศึกษารายวิชาวิทยาศาสตร์มาแล้วไม่น้อยกว่า 18 หน่วยกิจ การศึกษาจะศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ผสมกับการแพทย์แผนจีนโบราณ และเน้นการใช้ยาสมุนไพร ตามหลักสูตรของมหาวิทยาลัยแพทย์จีนหยุนหนาน [4]
     2 หลักสูตรระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต
     เป็นหลักสูตรในระดับบัณฑิตศึกษา เปิดโอกาสให้ผู้ที่ศึกษาจบในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตเข้าศึกษา เพื่อเป็นการเสริมความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านและสร้างทัศนะคติที่เกี่ยวกับการแพทย์แผนจีนให้กับแพทย์แผนปัจจุบัน โดยจะสอนในสาขาวิชาเฉพาะทางของการแพทย์แผนจีนเช่น การฝังเข็ม การรมยา การนวดทุยหน่า และสมุนไรจีน เป็นต้นการศึกษาในระดับนี้จะไม่สามารถสอบใบประกอบโรคศิลปะและไม่สามารถเปิดคลินิกส่วนตัวได้ เนื่องจากเป็นการศึกษาเพียงเฉพาะด้าน แต่ก็นับว่ามีความสำคัญมากต่อการพัฒนาการแพทย์แผนจีนของประเทศไทย
     3 หลักสูตรอบรมระยะสั้น
     เป็นหลักสูตรที่เปิดสอนให้แก่ประชาชนทั่วไป เพื่อให้มีความรู้พื้นฐานทางการแพทย์แผนจีน เป็นการกระจายความรู้ด้านการแพทย์แผนจีนสู่ประชาชนทั่วไป เพื่อให้การแพทย์แผนจีนเป็นที่ยอมรับมากขึ้นในประเทศไทย สำหรับผู้ที่จะเข้าอบรมจะต้องมีคุณสมบัติตามที่แต่ละหน่วยงานกำหนดไว้ ซึ่งอาจจะแตกต่างกันไปตามแต่ละหัวข้ออบรม และเมื่อจบการอบรมแล้วจะได้ใบประกาศการผ่านการฝึกอบรมในหัวข้อนั้น ๆ และสามารถนำไปต่อยอดในการสมัครงานในสถานพยาบาลในตำแหน่งผู้ช่วยแพทย์จีนในอนาคต [1]
     แหล่งอ้างอิง
     1. ปวินท์ สุวรรณกุล. ผู้ช่วยคณบดีคณะการแพทย์แผนจีน มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ. สัมภาษณ์, 7 เมษายน 2551.    
     2. ปวินท์ สุวรรณกุล. “มาเรียนแพทย์แผนจีนกันเถอะ.”  จุลสารการแพทย์แผนจีน. 4,1 (2550) : 6-9.        
     3. มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม. วิทยาลัยการแพทย์ทางเลือก. “การศึกษาแพทย์แผนจีน มหาวิทยาลัยจันทรเกษม.” [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.chandra.ac.th/office/chaina/TCMCOM.pdf 2549.สืบค้น 4 พฤษภาคม 2551.
     4. มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย. วิทยาลัยการแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือก. “พจ.บ.แพทย์จีน.”[ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.lannadoctor.com/index.php?option=com_content&task=view&id=19&Itemid=41 [ม.ป.ป.]. สืบค้น 4 พฤษภาคม 2551.  
vStudy Team. (เรียบเรียงโดย: สุวิชา ธงพานิช)
Website: vStudyapp.com
Facebook: http://www.facebook.com/vstudyapp
Twitter: @vStudyapp

No comments:

Post a Comment