Wednesday, December 18, 2013

แนะนำสาขาวิชา : การแพทย์แผนจีน ตอนที่ 1

2
     ช่วงปลายปีแบบนี้ น้องๆ หลายคนคงกำลังวิ่งวุ่นหามหาวิทยาลัยเพื่อเรียนต่อกันอย่างเอาจริงเอาจัง ซึ่งในขณะนี้ประเทศของเราก็ได้มีมหาวิทยาลัยเปิดขึ้นมากมายหลายแห่ง รวมถึงมีการเปิดการเรียนการสอนในสาขาวิชาต่างๆ มากมายก่ายกอง รวมถึงมีศาสตร์ใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมายอยู่ตลอดเวลา กระผมจึงอยากจะขอนำเสนอข้อมูลของสาขาวิชาต่างๆ ที่น่าสนใจและยังมีคนรู้จักน้อยอยู่ เพื่อให้น้องๆ ใช้ในการประกอบการตัดสินใจอีกทางหนึ่ง โดยเริ่มจากสาขาวิชาแรกเลยครับ เป็นสาขาวิชาทางด้านการแพทย์ทางเลือกที่ยังมีมหาวิทยาลัยไทยเปิดการเรียนการสอนอยู่น้อย
     หากกล่าวถึงศาสตร์ด้านการแพทย์ เราไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่าศาสตร์ด้านการแพทย์เป็นศาสตร์ที่สำคัญต่อมนุษย์มาก เพราะเป็นศาสตร์ที่ใช้ในการรักษา บรรเทา ฟื้นฟู และดูแลชีวิตของมนุษย์ อันเป็นผลมาจากการเสื่อมถอยของร่างกายและอุบัติเหตุ ศาสตร์การแพทย์ที่เกิดขึ้นมาในแต่ละภูมิภาคของโลกนั้นอาจไม่ได้เกิดจากรูปแบบทางความรู้ที่มาจากหลักการเดียวกัน แต่ทุกศาสตร์ต่างก็มีจุดประสงค์เดียวกันก็คือการบรรเทาความทุกข์ที่เกิดจากการเจ็บป่วยทางกายของมนุษย์เหมือนกันทั้งสิ้น
     การแพทย์แผนจีน เป็นศาสตร์การแพทย์หนึ่งของโลกที่สืบทอดต่อเนื่องกันมาเป็นเวลาหลายพันปี ถือได้ว่าเป็นศาสตร์ที่ทรงคุณค่าของชาวจีน ได้มีการค้นพบหลักฐานและข้อมูลจำนวนมากที่ยืนยันประสิทธิผลของศาสตร์การแพทย์แผนจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาฝังเข็มและสมุนไพรต่างๆ จากจีนซึ่งเป็นแหล่งอารยะธรรมสำคัญแห่งโลกตะวันออกที่เข้มแข็ง การแพทย์แผนจีนได้ถูกแบ่งออกเป็นยุคต่างๆ [1] ไว้ดังนี้
     ยุคโบราณ มีการประดิษฐ์เข็มหิน 9 เล่ม เพื่อใช้ในการรักษา เป็นที่มาของการฝังเข็ม นอกจากนี้ยังพบบันทึกตำราแพทย์ของจักรพรรดิหวงตี้
     ยุคราชวงศ์เชี่ย ถึง ยุคชุนชิว มีการนำเหล้ามาใช้ทำยา พบภาชนะสำหรับต้มยาและเอกสารโบราณชื่อ "ซานไห่จิง (山海轻)" เป็นเอกสารทางภูมิศาสตร์แต่กล่าวถึงยาสมุนไพรไว้ราว 20 ชนิด
     ยุคก่อกำเนิดทฤษฎีการแพทย์จีน จากยุคจั้นกั๋ว ถึง ยุคสามก๊ก พบตำราการแพทย์เขียนบนผ้าไหมและไม้ไผ่จากสุสานหม่าหวายตุย แห่งราชวงศ์ฮั่น เป็นตำราที่สรุปหลักการสำหรับสุขภาพและการรักษาโรค
     ยุคราชวงศ์ฉิน มีแพทย์รักษาโรคและปรุงยาอายุวัฒนะเรียกว่า "พวกฟางซื่อ" มีการสร้างเรือและนำเยาวชนชายและหญิงจำนวนหนึ่งออกไปค้นหายาอายุวัฒนะ
     ยุคราชวงศ์ซ่ง ถึง ยุคราชวงศ์หมิง เริ่มมีการผลิตหนังสือ มีการรวบรวมเอกสารด้านการแพทย์จำนวนมาก ทำให้เกิดการแพร่หลายอย่างรวดเร็ว และยังมีการสั่งให้สถานปรุงยาทุกแห่งวาดภาพต้นสมุนไพร เพื่อทำการรวบรวมและจัดพิมพ์เป็นหนังสือ
     ยุคพัฒนาการแพทย์แผนจีนและเวชปฏิบัติแผนใหม่ในยุคราชวงศ์หมิง ราชวงชิงก่อนสงครามฝิ่น มีการพัฒนาในด้านกายวิภาค สรีรวิทยา และสูตินรีเวช นอกจากนี้ยังพบหุนจำลองจุดฝังเข็ม ในยุคนี้เองการแพทย์แผนจีนได้ประสบความสำเร็จในด้านการต่อกระดูก เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้การแพทย์แผนจีนในยุคนั้นมีโอกาสได้ทำการรักษาร่วมกับการแพทย์แผนตะวันตก
     ยุคปัจจุบัน หลังจากที่การแพทย์แผนตะวันตกได้ก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้มีการต่อต้านการแพทย์แผนจีนเกิดขึ้น และการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญของจีนเองจนทำให้ต้องปิดประเทศก็เป็นผลทำให้ความรู้ด้านการแพทย์แผนจีนหยุดชะงักไป แต่เมื่อจีนเปิดประเทศอีกครั้ง ก็ได้แสดงให้ถึงประสิทธิภาพในการรักษาคนป่วยได้อย่างดีเยี่ยมและเทียบเท่ากับการรักษาของแพทย์แผนตะวันตก จึงได้มีการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมจนเกิดเป็นความรู้ใหม่ๆ มากมาย เช่น การกระตุ้นระบบประสาทโดยใช้ไฟฟ้าควบคู่กับการฝังเข็ม เป็นต้น สำหรับการรักษาของแพทย์จีนจะใช้วิธีการแบบดั้งเดิมโดยไม่ต้องใช้เครื่องมือใดๆ ใช้เพียงนิ้วมือของแพทย์จีนเท่านั้นก็สามารถตรวจวินิจฉัยโรคในเบื้องต้นได้หรือที่เรียกกันว่า "การแมะ หรือการตรวจชีพจร" เป็นวิธีการตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยของแพทย์จีนโบราณที่สำคัญที่สุดวิธีหนึ่ง โดยจะใช้นิ้วมือแตะลงไปบนจุดชีพจรต่างๆ เพื่อตรวจความผิดปกติของอวัยวะและระบบการทำงาน
     จุดเด่นของศาสตร์ด้านการแพทย์แผนจีน นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน์ [2] อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้ให้คำนิยมเอาไว้ตอนหนึ่งว่า “ถึงแม้การแพทย์แผนจีนต้องเผชิญชะตากรรมคล้ายคลึงกับการแพทย์แผนไทย คือ ถูกแรงเบียดจากการแพทย์แผนตะวันตกจนเกือบถูกกำจัดออกไปเมื่อราว 80 ปีมาแล้ว แต่เพราะแพทย์จีนมีพื้นฐานและการผนึกกำลังกันเข้มแข็งพอ" ทำให้ศาสตร์การแพทย์แผนจีนได้มีโอกาสพัฒนาสืบต่อมาไม่ขาดช่วงไปนานอย่างการแพทย์แผนไทย ซึ่งภายหลังการเปิดประเทศแล้วการแพทย์แผนจีนได้มีการแพร่หลายไปอย่างรวดเร็วทั่วทุกภูมิภาคทั่วโลก ทำให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางและได้รับการยอมรับมากขึ้น [3]
     นี้เป็นเพียงแค่ข้อมูลที่มาที่ไปของศาสตร์ด้านการแพทย์แผนจีนที่กระผมได้เคยรวบรวมเอาไว้เป็นภาคนิพนธ์ [4] เรื่อง “การแพทย์แผนจีนในประเทศไทย” เมื่อปี 2551 ซึ่งยังมีข้อมูลน่าสนใจอีกมากมายที่จะขอมานำเสนอในโอกาสถัดไปครับ
     แหล่งอ้างอิง
     1. วิทิต วัณนาวิบูล. ประวัติการแพทย์จีน. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2537.
     2. ภาสกิจ (วิทวัส) วัณนาวิบูล. “แนวคิด: การตรวจวินิจฉัยของศาสตร์แพทย์แผนจีน.” ตำราการแพทย์แผนจีน:การตรวจวินิจฉัย, 1-3. กรุงเทพมหานคร: หมอชาวบ้าน, 2548.
     3. ปวินท์ สุวรรณกุล. “มาเรียนแพทย์แผนจีนกันเถอะ.” จุลสารการแพทย์แผนจีน. 4,1 (2550) : 6-9.        
     4. สุวิชา ธงพานิช. “การแพทย์แผนจีนในประเทศไทย.” ภาคนิพนธ์ประกอบรายวิชา 2206101 การค้นคว้าและการเขียนรายงานเชิงวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2550.
vStudy Team. (เรียบเรียงโดย: สุวิชา ธงพานิช)
Website: vStudyapp.com
Facebook: http://www.facebook.com/vstudyapp
Twitter: @vStudyapp

No comments:

Post a Comment