Wednesday, December 4, 2013

เพื่อนร่วมโลกของเรา หายใจกันอย่างไรบ้าง?

2
     ในทุกๆ ช่วงเวลาของชีวิตเรา มีอยู่สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาทั้งที่เรารู้ตัวและไม่รู้ตัว นั่นก็คือการหายใจ เพราะการหายใจนั้นเป็นกระบวนการสำคัญยิ่งของสิ่งมีชีวิตที่จะนำเอาสารตั้งต้นของกระบวนการต่างๆ ภายในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตเข้าสู่ร่างกาย ดังนั้นไม่ใช่แค่ในมนุษย์เท่านั้นที่ต้องหายใจ แต่สิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆทุกชนิดล้วนแต่ต้องหายใจด้วยกันทั้งสิ้น วันนี้ผมจะขอนำเสนอตัวอย่างรูปแบบของระบบการหายใจของสิ่งมีชีวิตบางกลุ่ม ตามนี้เลยครับ
     ระบบท่อลม (tracheal system) เป็นระบบการแลกเปลี่ยนก๊าซในแมลง โดยจะประกอบไปด้วยรูเปิดที่บริเวณส่วนนอกและส่วนท้อง (spiracle) ท่อลม (trachea) และท่อลมย่อย (tracheole) โดยจะแทรกกระจายเข้าสู่ทุกส่วนของลำตัวแมลง เพื่อทำหน้าที่ในการแลกเปลี่ยนก๊าซ โดยเมื่ออากาศผ่านเข้ารูปเปิดไปยังท่อลม และท่อลมย่อยแล้วที่ปลายของท่อลมย่อยจะมีของเหลวบรรจุอยู่ ช่วยให้ออกซิเจนละลายได้ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนก๊าซได้ดี และเนื้อเยื่อก็จะได้รับก๊าซออกซิเจนจากท่อลมโดยตรงได้เลย
     ระบบผิวหนังที่ช่วยในการแลกเปลี่ยนก๊าซ จะพบได้ในพวกสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก เช่น กบตัวเต็มวัย โดยที่ผิวหนังของกบจะมีหลอดเลือดมาเลี้ยงจำนวนมาก ทำให้สามารถแลกเปลี่ยนก๊าซได้เป็นอย่างดีทั้งบนบกและในน้ำ โดยในขณะที่จำศีล กบจะใช้ผิวหนังที่ชุ่มชื้นอยู่ตลอดช่วยในการหายใจโดยการแลกเปลี่ยนก๊าซระหว่างผิวหนังกับอากาศรอบๆ ตัว เพื่อนำก๊าซออกซิเจนผ่านหลอดเลือดที่ผิวหนัง ไปเลี้ยงยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย
     เหงือก (gill) เป็นโครงสร้างที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนก๊าซของสัตว์ที่ดำรงชีวิตอยู่ในน้ำ เช่น ปลา โดยเหงือกของปลาจะมีลักษณะเป็นแผงๆ (gill arch) ซึ่งเป็นกระดูกอ่อน ด้านในมีลักษณะเป็นซี่ๆ เพื่อป้องกันอนุภาคขนาดใหญ่และอาหาร ไม่ให้เข้าออกได้ นอกจากนี้แต่ระแผงของเหงือกจะมีส่วนที่ยื่นนูนออกมาเป็นแขนงเรียกว่า gill filament และ gill lamella ซึ่งจะมีแขนงของหลอดเลือดมาสัมพันธ์ ทำให้ออกซิเจนในน้ำสามารถแพร่เข้าสู่หลอดเลือดได้อย่างพอเพียง ในขณะเดียวกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก็สามารถแพร่ออกจากหลอดเลือดไปสู่น้ำรอบๆ ได้เป็นอย่างดีเช่นกัน
     ปอด (lung) เป็นโครงสร้างที่ใช้ในการหายใจ พบได้ตั้งแต่สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์ปีก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนำนม รวมถึงคนด้วย เป็นโครงสร้างที่เริ่มมีความซับซ้อนและเป็นระบบมากขึ้น โดยออกซิเจนจะผ่านทางเดินหายใจเข้าสู่ปอด และถุงลมปอด เพื่อไปแลกเปลี่ยนที่ผนังของถุงลมกับหลอดเลือดฝอยที่มาสัมพันธ์ ก่อนจะถูกขนส่งผ่านหลอดเลือดไปยังเนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกาย
1
vStudy Team. (เรียบเรียงโดย: สุวิชา ธงพานิช)
Website: vStudyapp.com
Facebook: http://www.facebook.com/vstudyapp
Twitter: @vStudyapp

No comments:

Post a Comment