Tuesday, December 17, 2013

โครงกระดูกมีอะไรมากกว่าที่คิด

2
     เนื่องด้วยกระผมได้มีโอกาสไปเข้าฟังการบรรยายพิเศษเกี่ยวกับการสอนกายวิภาคศาสตร์กับอาจารย์ใหญ่ ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แล้วก็มีประเด็นหนึ่งในหลายๆ ประเด็นที่ผมคิดว่าน่าสนใจมาก ดังเช่นเรื่องที่ผมจะขอมานำเสนอในวันนี้ ซึ่งได้รับเกียรติบรรยายโดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) นายแพทย์สรรใจ แสงวิเชียร ในหัวข้อ “การตรวจวิเคราะห์ โครงกระดูก” ครับ จึงขออนุญาตนำบทบรรยายของท่านมานำเสนอในครั้งนี้ด้วยครับ
     การวิเคราะห์โครงกระดูกหรือกระดูกแต่ละชิ้นนั้น นับว่ามีความสำคัญอย่างมากในการศึกษาทางด้านมานุษยวิทยากายภาพ การศึกษาเชื้อชาติ การศึกษาทางการแพทย์ การศึกษานิติเวชศาสตร์ และการศึกษาโบราณคดี ซึ่งผู้ที่จะทำการวิเคราะห์โครงกระดูกจะต้องมีความรู้ทางกายวิภาคศาสตร์ของกระดูกมนุษย์เป็นอย่างดี รวมถึงต้องมีความรู้เกี่ยวกับกระดูกสัตว์ กายวิภาคศาสตร์เปรียบเทียบและวิวัฒนาการ
     งานการวิเคราะห์โครงกระดูกถูกใช้ในการศึกษามานุษยวิทยากายภาพโดยตรง แต่ก็ยังมีอีกสองสาขาวิชาที่จะต้องวิเคราะห์กระดูกด้วยก็คือ โบราณคดี และนิติเวชศาสตร์ โดยที่นักศึกษาสาขาเหล่านี้จะต้องเรียนเรื่องกระดูกมนุษย์ทุกชิ้น ไม่ว่าจะเป็นชื่อลักษณะจำเพาะ การแยกข้าง ร่องทุกร่อง รูทุกรูในกระดูกทุกชิ้น และจะต้องรู้จักกระดูกสัตว์พอสมควร เพื่อจะได้ใช้ในการแปลผลว่ากระดูกที่พบเป็นของคนหรือไม่
     ในการศึกษา เมื่อได้รับโครงกระดูกหรือชิ้นส่วนกระดูกมาแล้ว จะต้องทำการศึกษาและตอบปัญหาต่างๆ ให้ครบถ้วนตามลำดับ ดังนี้
     1. กระดูกเหล่านั้นเป็นกระดูกแท้ใช่หรือไม่
     2. กระดูกเหล่านั้นชิ้นใดเป็นกระดูกคนชิ้นใดเป็นกระดูกสัตว์ ต้องแยกจากกัน สำหรับนิติเวช กระดูกสัตว์อาจไม่สำคัญนัก ยกเว้นสัตว์ที่จะเป็นต้นเหตุการณ์ตาย สำหรับโบราณคดี ต้องศึกษาร่วมกับผู้รู้ทางสัตววิทยา ต้องตอบเรื่องสัตว์ที่เป็นอาหาร สัตว์ที่ใช้งาน ฯลฯ
     3. กระดูกคนที่ได้เป็นกระดูกคนปัจจุบันหรือกระดูกคนโบราณซึ่งอาจต้องศึกษาทางด้านอื่นๆ อีก เช่น การหาอายุโดยใช้วิธีการทางฟิสิกส์
     4. กระดูกคนที่ได้มานั้นมีกี่ชิ้น อะไรบ้าง
     5. กระดูกคนนั้นเป็นของคนกี่คน
     6. พิจารณาสภาพของกระดูกแต่ละคนว่าเป็นอย่างไร เก่า ใหม่ แห้ง เปราะ กลายเป็นฟอสซิล ฯลฯ ซึ่งขั้นตอนนี้จะต้องใช้ทั้งความรู้กายวิภาค ความอดทน และความละเอียดในการทำงาน
     7. กระดูกกองนั้นเป็นเพศชายหรือหญิง โดยใช้การศึกษาตามวิธีของ Krogman “Human Skeleton in Forensic Medicine” ที่ใช้เชิงกราน กะโหลก และกระดูกยาว
     8. เจ้าของกระดูกนั้นสูงประมาณเท่าไร วัดกระดูกยาวโดย Ostreometric Board แล้วคำนวณโดยสมการถดถอยที่เป็นสูตรของคนไทย
     9. อายุประมาณเท่าไร
     10. เชื้อชาติอะไร ซึ่งจะต้องศึกษาโดยการวัดตามวิธีมาตรฐาน และต้องมีเครื่องมือมาตรฐาน
     11. ศึกษาลักษณะจำเพาะของฟัน ลักษณะ รูปร่าง ความผิดปกติ ร่องรอยการสึก การผุ การทำฟัน การตบแต่งฟันแบบต่างๆ
     12. บันทึกลักษณะของความพิการแต่กำเนิดของโครงกระดูก หรือการกระทำให้เกิดความพิการ
     13. บันทึกร่องรอยของพยาธิสภาพที่ปรากฏในกระดูกหรือฟัน
     14. บันทึกร่องรอยที่กระดูก ที่เกิดขึ้นโดยคนทำ จากวัฒนธรรม และความเชื่อ เช่น การแต่งฟัน การทำกะโหลกให้ผิดรูป ฯลฯ
     15. ร่องรอยการทำลายของกระดูกโดยสัตว์และแมลง เช่น รอยที่ถูกเม่นแทะ หรือปลวกกิน
     16. บันทึกร่องรอยทางนิติเวชศาสตร์ เช่น ร่องรอยการถูกทำร้าย และร่องรอยการทำลายศพ
     ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานเรื่องโครงกระดูกควรจะต้องหาความรู้หลายๆ วิชาให้กว้างขวาง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการทำงานมาก
vStudy Team. (เรียบเรียงโดย: สุวิชา ธงพานิช)
Website: vStudyapp.com
Facebook: http://www.facebook.com/vstudyapp
Twitter: @vStudyapp

No comments:

Post a Comment