มาถึงตอนสุดท้ายของการแนะนำสาขาวิชาการแพทย์แผนจีนกันแล้วนะครับ หวังว่าน้องๆ หลายคนคงพอจะได้แนวทางในการศึกษากันบ้างไม่มากก็น้อยนะครับ ลองมาดูประเด็นต่อไปนี้เป็นการส่งท้ายแล้วกันครับ
ความน่าเชื่อถือและการรับรองคุณวุฒิของแพทย์จีนในประเทศไทย
หลักจากที่องค์การอนามัยโลก (WHO)ได้ออกมาประกาศยอมรับการแพทย์แผนจีนแล้ว ประเทศไทยก็ได้มีการทำสัญญาความร่วมมือทางการแพทย์กับสาธารณรัฐประชาชนจีน และได้มีการจัดตั้งศูนย์การแพทย์ไทย-จีน ขึ้นทำให้แพทย์จีนได้รับการยอมรับจากคนไทยมากขึ้น และในปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้มีการกำหนดให้แพทย์จีนในประเทศไทยที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ จะต้องเข้ารับการทดสอบปีละหนึ่งครั้งทุกปี เพื่อเป็นการสร้างมาตรฐานทางการแพทย์แผนจีน แต่ต่อไปหากมีบัณฑิตแพทย์จีนที่ศึกษาจบจากมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงการเข้ารับการทดสอบโดยที่บัณฑิตแพทย์จีนจะต้องเข้ารับการทดสอบความรู้ทุก ๆ 5 ปีเพื่อต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ
ขอบเขตการรักษาและหลักในการทำงานของแพทย์จีน
การแพทย์แผนจีนในประเทศไทย ขณะนี้ถึงแม้จะได้รับการยอมรับมากขึ้นและได้รับการรับรองจากหน่วยงานต่าง ๆ มากมาย แต่รัฐบาลก็ต้องมีการกำหนดขอบเขตของแพทย์จีน เพราะผลทางการรักษาของแพทย์แผนจีนยังไม่มีความชัดเจน ถึงแม้จะได้ผลดีมาโดยตลอด และได้มีการกำหนดร่างพ.ร.ฎ.กำหนด ให้สาขาการแพทย์แผนจีนเป็นสาขาการประกอบโรคศิลปะตามพ.ร.บ.การประกอบโรคศิลปะพ.ศ.2542 (ปวินท์ สุวรรณกุล, สัมภาษณ์)
ในการรักษาของแพทย์จีนนั้นได้มีการกำหนดกฎหมายไว้ในลักษณะที่ว่า แพทย์จีนจะต้องรักษาผู้ป่วยโดยใช้ความรู้ทางศาสตร์การแพทย์แผนจีนเท่านั้น ไม่สามารถใช้การรักษาในศาสตร์การแพทย์แผนปัจจุบันได้ ซึ่งรวมไปถึงการใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ผลิตขึ้นโดยความรู้ทางด้านการแพทย์แผนปัจจุบัน เช่น เครื่องเอกซเรย์ เครื่องตรวจคลื่นหัวใจ เครื่องช่วยหายใจ เครื่องวัดความดัน รวมถึงมีด เข็มฉีดยา และอุปกรณ์ผ่าตัดอื่นๆ เป็นต้น แต่ก็ไม่ได้ถือเป็นอุปสรรค์ในการรักษาของแพทย์จีนแต่อย่างใด เพราะแพทย์จีนมีหลักในการรักษาที่อาศัยหลักการทำงานของระบบลมปราณ และความสมดุลของธาตุในร่างกาย ประกอบกับในการตรวจวินิจฉัยโดยอาศัยประสาทสัมผัส (ภาสกิจ (วิทวัส) วัณนาวิบูล 2548: 1-3) ตามหลักความรู้ที่ได้จากตำรา หวงตี้เน่ยจิง*(黄帝内经) ของแพทย์จีนโบราณ จึงไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ใดช่วย และการรักษาจะเป็นการปรับสมดุลในร่างกายโดยใช้การกระตุ้นระบบประสาทของผู้ป่วยซึ่งมีหลายวิธี เช่น การฝังเข็ม และการกดจุด เป็นต้น บางครั้งจะใช้หลักในการกระตุ้นธาตุจากภายในร่างกายโดยการใช้ยาสมุนไพร ทำให้แพทย์จีนไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์แผนปัจจุบันมาช่วยในการรักษา
สรุป
การแพทย์แผนจีนเป็นศาสตร์การแพทย์ที่มีคุณค่าของประเทศจีน และจากการแสดงประสิทธิภาพทางการรักษาที่ดีของแพทย์จีน ทำให้ได้รับการยอบรับอย่างแพร่หลายและรวดเร็วมากในระยะเวลาอันสั้น ประกอบกับการรักษาของแพทย์จีนมีจุดเด่นหลายอย่าง เช่น ไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์หรือสารเคมีซึ่งมีความเสี่ยง ไม่เสียเวลามากในการตรวจวินิจฉัยเบื้องต้น และสามารถเข้าถึงผู้ป่วยได้ทุกภูมิภาค เป็นต้น จึงทำให้การแพทย์แผนจีนกลายเป็นการแพทย์ทางเลือกทางหนึ่งที่น่าสนใจมาก สำหรับประเทศไทยการแพทย์แผนจีนก็ถือว่ามีความสำคัญและประชาชนให้ความสำคัญมาก จึงทำให้การแพทย์แผนจีนเข้ามามีบทบาทในสังคมไทยมากขึ้นทุกวัน และมีพัฒนาการที่รวดเร็วนับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน และจะพัฒนาต่อไปในอนาคตด้วยความรู้ของบัณฑิตไทย
*หวงตี้เน่ยจิง(黄帝内经)เป็นหนังสือตำราแพทย์ ซึ่งเป็นพื้นฐานของตำราแพทย์ในโบราณ หวงตี้เน่ยจิงมีทั้งหมด 81 บทลักษณะเป็นปุจจฉา-วิสัชนาของหวงตี้กับข้าราชบริพารเกี่ยวกับโรคภัยต่าง ๆ ส่วนแรก เรียกว่า “คำถามทั่วไป” (素問) เนื้อหากล่าวถึงพื้นฐานของยาจีนโบราณ อาการของโรค และวิธีการรักษา ส่วนที่สองเรียกว่า “จุดสำคัญในร่างกาย” หลิงซู(靈樞) ซึ่งกล่าวถึงการฝังเข็มโดยละเอียด
แหล่งอ้างอิง
1. ปวินท์ สุวรรณกุล. ผู้ช่วยคณบดีคณะการแพทย์แผนจีน มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ. สัมภาษณ์,7 เมษายน 2551.
2. ปวินท์ สุวรรณกุล. “มาเรียนแพทย์แผนจีนกันเถอะ.” จุลสารการแพทย์แผนจีน. 4,1 (2550) : 6-9.
3. ภาสกิจ (วิทวัส) วัณนาวิบูล. “แนวคิด: การตรวจวินิจฉัยของศาสตร์แพทย์แผนจีน.”ตำราการแพทย์แผนจีน:การตรวจวินิจฉัย, 1-3. กรุงเทพมหานคร: หมอชาวบ้าน, 2548.
4. มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม. วิทยาลัยการแพทย์ทางเลือก. “การศึกษาแพทย์แผนจีน มหาวิทยาลัยจันทรเกษม.” [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.chandra.ac.th/office/chaina/TCMCOM.pdf 2549.สืบค้น 4 พฤษภาคม 2551.
5. มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย. วิทยาลัยการแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือก. “พจ.บ.แพทย์จีน.”[ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.lannadoctor.com/index.php?option=com_content&task=view&id=19&Itemid=41 [ม.ป.ป.]. สืบค้น 4 พฤษภาคม 2551.
6. วิทิต วัณนาวิบูล. ประวัติการแพทย์จีน. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2537.
vStudy Team. (เรียบเรียงโดย: สุวิชา ธงพานิช)
Website: vStudyapp.com
Facebook: http://www.facebook.com/vstudyapp
Twitter: @vStudyapp
Website: vStudyapp.com
Facebook: http://www.facebook.com/vstudyapp
Twitter: @vStudyapp